เดินหน้าคลายปมมรดกพันล้านของพ่อเลี้ยงชูชาติ กัลมาพิจิตร เจ้าของปางช้างแม่สา ผู้ล่วงลับ โดยหลังจากเมื่อวันที่ 17 ส.ค.นี้ทางนางอัญชลี กัลมาพิจิตร บุตรสาวคนโตซึ่งเป็นหนึ่งในสองของการเป็นผู้จัดการร่วมในกองมรดกพันล้าน ได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองพร้อมสื่อมวลชนเข้าไปร่วมเป็นพยานในการสำรวจตรวจสอบทรัพย์สินที่บ้านล้านช้าง ของนายชูชาติ กัลมาพิจิตร ที่ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พบทรัพย์สินบางส่วนอยู่ในตู้เซฟร่วมถึงงาช้างจำนวนหนึ่ง แต่ที่สำคัญได้มีการตรวจพบว่าเงินในบัญชีธนาคารแห่งหนึ่งมีจำนวน 5 บัญชีที่เป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและเงินที่จะใช้ในการบริหารจัดการปางช้างแม่สาและกิจการในเครือหายไปจากบัญชีธนาคารแห่งหนึ่งจำนวนถึง 172 ล้านบาท จึงจะมีการเดินหน้าตรวจสอบในเรื่องนี้
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 18 ส.ค.นี้ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับนางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่มีช้างอยู่จำนวนร่วม 70 เชือก โดยบรรยากาศภายในปางช้างแม่สา ดูเงียบเหงา เนื่องจากเป็นวันธรรมดา ไม่มีนักท่องเที่ยว ซึ่งก็ได้พบกับนางอัญชลี ซึ่งกำลังตรวจดูเอกสารพินัยกรรม ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ถามถึงเรื่องเงินในบัญชีธนาคารที่หายไปจำนวนมากถึง 172 ล้านบาทในตอนนี้สงสัยใคร นางอัญชลี ตอบว่าหากเป็นเรื่องเงินที่หายไปเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้เป็นเรื่องเชิงวิทยาศาสตร์ที่จะต้องมีการเบิกเงิน มีลายเซ็นผู้เบิก และทางธนาคารก็ตรวจสอบได้ว่าเป็นใครที่มาเบิกเงิน ก็จะเป็นขบวนการที่จะสามารถให้คำตอบกับเราได้ว่าเส้นทางเงินร้อยกว่าล้านบาทไปออกไปเมื่อไหร่และไปหาใครบ้างและใครเป็นผู้ที่เบิกเงินหรือว่าโอนเงินและปลายทางไปไหนเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว
ส่วนปัญหาความขัดแย้ง นางอัญชลี ตอบว่า “เป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงก็พยายามที่จะทำความเข้าใจมาตั้งแต่ต้นแล้วในขณะนี้ล่วงเลยมากว่า 3 ปีหลังจากบิดาเสียชีวิตจะเป็นการขัดแย้งกับตนหรือเรื่องการจัดการทรัพย์สินอย่างไร เพราะเรื่องนี้มันเป็นผลประโยชน์ของทายาททุกคนและความชัดเจนมันก็อยู่ตามพินัยกรรมอยู่แล้วว่าทรัพย์สินของบิดาให้ใครบ้าง แต่ทีนี้ประเด็นมันคือเรื่องของการมีทรัพย์นอกพินัยกรรมตรงนี้ต่างหากที่มันอาจจะกลายเป็นบัญหาที่วนอยู่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเพราะตามพินัยกรรมมันไม่ใช่ทรัพย์สินทั้งหมด เพราะที่เราส่งให้ศาลรับทราบมันมีทรัพย์ทั้งในพินัยกรรมและนอกพินัยกรรมถึง 230 รายการมันมากกว่าที่อยู่ในพินัยกรรม และก็ยังไม่หมดแค่นี้ยังมีอยู่”
“ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกสองคนที่ต้องเข้ามาร่วมกันจัดการให้มันเกิดความเรียบร้อยซึ่งตัวเราเองไม่มีอะไร เพราะเราเป็นบุตรสาวคนโตของนายชูชาติอยู่แล้วที่จะต้องดูแลปางช้างแม่สา พนักงานและคนในครอบครัวอยู่แล้ว เราเคารพกฎหมายเราต้องการให้การจัดการมรดกมันเสร็จสิ้นตั้งแต่เมื่อปี 2562 แล้ว เพราะเมื่อโควิดเข้ามาเรามีความลำบากในเรื่องการจัดการปางช้างแม่สา เพราะเรามีช้างรวม 70 เชือก คนก็เป็นหลักร้อย การจัดการต้องใช้เงินเดือนกว่า 2-3 ล้านบาท เราไม่มีเงิน เพราะในตอนที่เข้ามาบริหารปางช้างเขาให้เงินมาบริหารเพียง 9 ล้านบาทเท่านั้นเมื่อปี 2562 เราไม่รู้เลยว่าพ่อมีทรัพย์หรือเงินฝากไว้มากเท่าไหร่เพราะไม่ได้เฝ้า มัวแต่ติดตามสามีไปทำงานในหลายพื้นที่จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าเงินและทรัพย์มีมากหรือไม่ แต่ก็พอจะรู้ว่าน่าจะมีเพราะพ่อทำปางช้างมา 40 กว่าปีตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งในช่วงที่ตนมาบริหารด้วยเงิน 9 ล้านบาทก็มีปัญหาโควิดขึ้นมาทำให้เงินหมดติดลบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราหาเงินไม่ได้มีนักท่องเที่ยวบางวันไม่ถึง 20 คนจึงเป็นความยากลำบากมากที่จะเก็บปางช้างแม่สามาจนถึงวันนี้”
นางอัญชลี กล่าวอีกว่า แต่เราก็มีความเข้าใจว่าพ่อทิ้งทรัพย์มรดกไว้ให้พอที่จะใช้หนี้และบริหารปางช้างต่อไปได้ แต่ก็มาเกิดปัญหาในการจัดการมรดกเพราะเกิดปัญหาขึ้นมาจึงจะต้องมีการหาทรัพย์สินให้เจอและจะโอนให้กับทางผู้ที่ได้รับมรดก แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ก็อยากจะให้มีการโอนทรัพย์ที่ยังมีเข้าสู่บริษัทปางช้างแม่สาก่อน เพื่อจะสามารถพยุงปางช้างให้อยู่รอดไว้ก่อน ซึ่งสถานการณ์การเลี้ยงดูช้างและพนักงานลำบากมาก ก็ขึ้นอยู่กับเราจะจัดการทรัพย์มรดกของพ่อได้รวดเร็วขนาดไหน ตอนนี้เราอยู่ดูแลช้างชนิดเดือนชนเดือนในการหาเงินมาเลี้ยงช้างและดูพนักงาน นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา กล่าว.