ดร.นาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายก(นายอนุทิน ชาญวีรกูล ) นำคณะเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ที่เมืองเก่าพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มีนายสมชาย เสมมณี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฏร์ธานี และคณะให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชม
โดยที่แรกได้ไปกราบไหว้อนุสาวรีย์ปืนใหญ่พุมเรียง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพุมเรียง ที่มีปืนใหญ่เป็นร่องรอยที่เหลือในช่วงสงคราม 9 ทัพ พุมเรียงเคยได้ชื่อเป็นเมืองพุมเรียงก่อนจะเป็นเมืองไชยา และได้มีการสู้รบกับพม่าซึ่งมีร่องรอยที่เหลืออยู่คือปืน 2 กระบอก กระบอกที่1อยู่ที่ตลาดเช้า ทางเทศบาลได้ตั้งชื่อว่านางพญาพุมเรียง กระบอกที่ 2 อยู่ที่โรงเรียนวัดพุมเรียง ชาวบ้านนิยมบูชาปืนใหญ่เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพุมเรียง
ต่อมาได้เดินไปยังกลุ่มทอผ้าบ้านพุมเรียง ผ้าทอพุมเรียงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของกลุ่มชาวไทยมุสลิม ที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณอ่าวพุมเรียง แถบบริเวณคลองพุมเรียง หมู่ที่ 2 บ้านหัวเลน ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้สืบทอดกันหลายชั่วอายุคนจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าผ้าไหมพุมเรียงเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงามและมีลักษณะเด่นที่ต่างไปจากผ้าไหมอื่นๆ คือ การทอยกดอกด้วยไหมและดิ้น ผ้ายกดอกที่มีชื่อเสียงได้แก่ ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และผ้ายกดอกลายเชิง ปัจจุบันการทอผ้ายกดอกด้วยหูกแบบโบราณในตำบลพุมเรียงปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก ช่างทอผ้ารุ่นใหม่ไม่นิยมทอด้วยหูก แต่จะหัดทอผ้าด้วยที่กระตุกเป็นส่วนใหญ่ ผ้าทอพุมเรียงนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า มีประวัติอันยาวนาน
ปัจจุบัน ร้านวรรณม๊ะไหมไทย คงความเป็นเอกลักษณ์ด้วยการทอด้วยกี่กระตุกซึ่งทอได้เร็ว ทนทาน เนื้อผ้าสวย ประกอบด้วยลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายดอกพิกุล ลายราชวัตรโคม ลายข้าวหลามตัด ลายศรีวิขัย และลายโบตั๋น ซึ่งเทคนิคขั้นตอนการทอผ้าไหมเหล่านี้ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยความสามารถในการจดจำจากผู้ที่สอนที่มีความชำนาญ มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงให้สามารถเก็บรักษาศิลปะการทอผ้าไว้จนถึงปัจจุบัน
จากนั้นได้เดินทางไปยังบ้านศรียาภัย สำหรับบ้านศรียาภัยสร้างมาประมาณ 109 ปี บ้านหลังนี้ญาติเป็นเจ้าเมืองไชยา ท่านขำ ศรียาภัย คนที่อยู่บ้านหลังนี้เป็นคนสุดท้ายคือ คุณทวดเจี้ยม บ้านหลังนี้มีความเกี่ยวดองกับท่านพุทธทาส สมัยก่อนคุณทวดเจี้ยมเคยขายยาแผนโบราณ ชั้นวางภายในบ้านตอนนี้คือชั้นวางขายาของคุณทวดเจี้ยมในสมัยก่อน หลังบ้านมีต้นมะขามอายุเกือบ100ปี บ่อน้ำข้างบ้านสร้างมาจากอิฐเผาสมัยโบราณปัจจุบันน้ำในบ่อยังสามารถใช้ได้
และบริเวณที่ย่างขนมจากในปัจจุบันนั้นในสมัยก่อนเจ้าเมืองไชยาได้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพและมานั่งบริเวณนั้น และช้างที่ท่านเคยเลี้ยงเดินผ่านมา เมื่อช้างเห็นท่านเจ้าเมืองไชยาก็ขึ้นไปเหยียบและคุกเข่าบริเวณนั้นทำให้บ้านทรุดมาจนถึงปัจจุบัน คนที่ดูแลปัจจุบันคือ แม่ประทุม ศรียาภัยและลูกของแม่ประทุม ศรียาภัย ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมธนาคารปูม้า บ้านแหลมโพธิ์
ดร.นาที กล่าวว่า การได้มาเที่ยวเมืองเก่าพุมเรียง มันเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากชาวบ้านในชุมชนยังมีการเก็บรักษาและอนุรักษ์ความเป็นชุมชนเมืองเก่าไว้เป็นอย่างดี เหมาะแก่การศึกษาเรียนรู้ของเด็กรุ่นหลังเป็นอย่างยิ่ง