วันที่ 4 มีนาคม 2565 นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ณ อำเภอเมืองปัตตานี ทุ่งยางแดง สายบุรี ไม้แก่น แม่ลาน ยะรัง และโคกโพธิ์ โดยได้ร่วมพบปะ รับฟังปัญหา และให้กำลังใจเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
นายชาลี สิตบุศย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกรในการดูแลและฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด ในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังเกษตรกรควรหาทางระบายน้ำออกจากบริเวณโคนต้นพืชโดยเร็ว โดยอาจขุดร่องระบายน้ำให้ไหลออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด หลังน้ำท่วมใหม่ๆขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่ และห้ามบุคคล รวมทั้งสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมขังจะมีโครงสร้างง่ายต่อการถูกทำลาย เกิดการอัดแน่นได้ง่าย ซึ่งเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ รวมทั้งจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืชทำให้ต้นไม้ทรุดโทรมและอาจตายได้ ควรลดปริมาณการคายน้ำและการใช้ธาตุอาหารของพืช โดยการตัดแต่งกิ่งและผลออก หากต้นล้มให้พยุงต้นให้ตั้งตรง และควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืช เพราะในระยะนี้ระบบรากของพืชยังไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารพืชจากดินได้ตามปกติ
นายชาลี สิตบุศย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หากสังเกตุว่าดินในพื้นที่เริ่มแห้งแล้ว ให้เร่งทำการฟื้นฟูระบบรากกลับมาให้เร็วที่สุดโดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาหว่านใต้ทรงพุ่ม เป็นการป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา และควรพรวนดินหรือใช้เครื่องเติมอากาศเพื่อเพิ่มออกซิเจนแก่รากพืชช่วยในการแตกใหม่ได้ดีขึ้น โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้สนับสนุนเชื้อไตรโคเดอร์มา เพื่อจัดสรรแก่เกษตรกรใช้ฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดต่อไป
ภาพข่าว/ ตอริก สหสันติวรกุล ปัตตานี