เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 เวลา 08.00 น. ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงช้างที่มีมากถึง 70 เชือก และยังคงเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สาได้ให้ทีมงานควาญช้างนำผ้าห่มที่ตัดเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ ขนาดเท่าลำตัวช้าง ออกมาแจกจ่ายให้ควาญช้างเพื่อนำใส่คลุมให้ช้างชื่อออร์ก้าวัย 11 ปี ที่ยืนรอต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างความอบอุ่น ท่ามกลางอุณหภูมิที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังแจกจ่ายให้ช้างในปางอย่างพลายขุนศึก อายุ 4 ปี พังแม่มา ช้างคุณยาย และพังแม่สร่าย พังแม่สวย รวมถึงพังแม่แป้น คูณทรัพย์ ซึ่งเป็นช้างแสนรู้ พูดโต้ตอบกับควาญได้
เช้านี้บนดอยมีอุณหภูมิประมาณ 13 องศา ทำให้ช้างไม่ลงอาบน้ำและบางเชือกไม่ยอมกินน้ำ ซึ่งถือเป็นอาการปกติเมื่อช้างต้องเจอกับความหนาวเย็น ส่วนช้างบางเชือกที่ไม่ยอมคลุมตัวด้วยผ้าห่ม ควาญช้างก็ต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการก่อกองไฟให้ช้าง ในเวลากลางคืน ช้างชราและช้างเล็ก จะถูกย้ายเข้าโรงเรือน เพื่อกันน้ำค้าง และกันลม ช้างที่ทนต่อสภาพอากาศไม่ไหวอาจจะล้มป่วยและเป็นไข้ได้ในช่วงนี้ ดังนั้นนายสัตวแพทย์และควาญช้างต้องหมั่นเช็คช้างและนำช้างออกผิงแดดในช่วงสาย เพื่อลดอาการหนาวสั่น ตามธรรมชาติ ช้างจะกินน้ำได้น้อย จึงควรใส่ใจและกระตุ้นให้ช้างได้กินน้ำบ่อยขึ้น
สำหรับในปีนี้ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สาได้ทำ”โครงการผ้าห่มเพื่อช้างคลายความหนาว” มีแฟนคลับทางเพจ Maesa Elephant Camp ปางช้างแม่สา ได้ส่งมาห่มมาให้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนจำนวนหลายร้อยผืน ทำให้เราไม่มีค่าใช้จ่ายในเรื่องผ้าห่มช้างและผ้าห่มควาญ โดยทีมงานปางช้างได้นำผ้ามาเย็บต่อกันเอง หลายขนาด ส่วนมากผ้าที่ส่งมาจะเป็นผ้าห่มนาโนที่มีคุณสมบัติเบาแต่อุ่น และมีสีสันลวดลายสวยงาม ในปีนี้ช้างจำนวน 70 เชือกได้มีผ้าห่มครบทุกเชือกและยังมีสำรองในกรณีที่เปื้อน หรือฉีกขาดอีกด้วย
สำหรับอาหารที่ช้างจะชอบกินเป็นพิเศษก็คือข้าวเหนียวนึ่ง ปั้นเป็นก้อนใส่เกลือ เป็นอาหารให้พลังงานที่ทางปางช้างแม่สาได้ปลูกและเก็บเกี่ยวเตรียมไว้แล้ว จึงถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายลงในโครงการต่างๆสำหรับช้างเลี้ยงในช่วงที่เรายังเผชิญกับโรคติดต่อโควิด-19 และที่สำคัญที่สุดคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยมาร่วมกันอนุรักษ์ช้างซึ่งเป็นสัตว์มงคลและเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติไทย