เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ห้องประชุม โรงแรม ฮอลิเดย์อินน์ วานา นาวา หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พันเอก ดร.พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านกิจการโทรคมนาคม (กตป.) เป็นประธานเปิดโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช.และเลขาธิการ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม ประจำปี 2564 จัดโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังกว่า 150 คน
พันเอก ดร.พีรวัส กล่าวว่า คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านกิจการโทรคมนาคม มีกำหนดการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านกิจการโทรคมนาคม ทั้งหมด 5 จังหวัด 5 ภาค ซึ่งภาคกลางได้เลือก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียในด้านกิจการโทรคมนาคมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ การเตรียมความพร้อมในการจัดสรรและการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz การเร่งรัดการนำสายสื่อสารลงใต้ดินและการจัดระเบียบสายสื่อสาร มาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการของ กสทช.เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และมาตรการแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวงประชาชน เป็นต้น ซึ่งการเปิดเวทีในครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การประเมินการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช.ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสูงสุด
ในช่วงนี้ประชาชนจำนวนมากได้รับข้อความสั้น หรือ SMS หลอกลวงจากมิจฉาชีพที่แอบอ้างว่าส่งมาจากธนาคาร หน่วยงานราชการ รัฐบาล โดยใช้วิธีการส่งลิงก์ ประกอบกับข้อความในลักษณะที่สร้างความตกใจ หรือสร้างความสนใจ หรือส่งข้อความลักษณะเหมือนการแจ้งเตือนจากระบบ อี-แบงค์กิ้ง หรือ SMS แจ้งสถานะทางบัญชี อาทิ แจ้งเงินเข้าบัญชีจำนวนมาก บัญชีของคุณถูกแจ้งปิดบริการ ธนาคารแจ้งอัพเดทระบบ หรือข้อความบอกกดเงินสำเร็จทั้งๆที่ประชาชนที่ได้รับข้อความก็ไม่ได้ทำธุรกรรมใดๆกับธนาคาร หรือหลอกลวงว่าได้รับการช่วยเหลือวงเงินตามนโยบายของรัฐบาลให้ประชาชนกดลิงก์ที่แนบมา ซึ่งหากประชาชนกดลิงก์ดังกล่าวแล้วเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือทำการใดๆจะทำให้ต้องเสียเงิน หรือถูกนำข้อมูลไปใช้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง เมื่อได้รับ SMS ที่มีลิงก์ขอให้ตั้งสติ อย่าตกใจ หรือเชื่อในข้อความที่ได้รับ อย่ากดลิงก์ที่ส่งมากับ SMS ทันที แต่ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของ SMS ก่อน สังเกตลิงก์ หรือ url ให้มั่นใจก่อนกด ถ้าเป็นมิจฉาชีพลิงก์ หรือ url ที่ส่งมาจะเป็นชื่อแปลกๆไม่ตรงกับหน่วยงาน (ธนาคาร หรือหน่วยงานราชการ) ที่อ้างใน SMS แต่จะเป็นตัวสะกด เป็นข้อความภาษาอังกฤษหรือเครื่องหมายแปลกๆ หากได้รับ SMS ที่มีข้อความและลิงก์เหล่านี้ อย่าไปกดลิงก์ หรือถ้าสงสัยให้โทรสอบถาม Call Center ของหน่วยงานนั้นๆ อย่าหลงกรอกข้อมูลส่วนตัว Username Password หรือ OTP ผ่านลิงก์ที่ได้รับเด็ดขาด เพราะมิจฉาชีพได้พัฒนากลอุบายต่างๆเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนแล้วนำไปทำธุรกรรม ถอนเงินจากบัญชีของผู้ถูกหลอกลวงจนหมดได้ ทั้งนี้สำนักงาน กสทช.ได้สั่งการให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกราย ตรวจสอบ ดูแล การส่ง SMS ที่ผ่านระบบของผู้ให้บริการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน หรือเกิดกรณีหลอกลวงเช่นนี้”
ส่วนแนวทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินและการจัดระเบียบสายสื่อสาร ขณะนี้สำนักงาน กสทช.ได้ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)กำหนดแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ รวมถึงการนำสายสื่อสายลงใต้ดิน ภายในระยะเวลา 3 ปี (2565-2567) แบ่งเป็น 1.การจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2565 ระยะทาง 456 กิโลเมตร หลังจากนั้นดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 936 กิโลเมตร 2.การจัดระเบียบสายสื่อสารตามแผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยได้กำหนดรายละเอียดเส้นทางจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำหรับปี 2565-2567 ไว้รวมระยะทาง 6,000 กิโลเมตร หรือประมาณปีละ 2,000 กิโลเมตร.
อุดมศักดิ์ นิ่มเซียน.ประจวบฯ