โครงการบางระกำโมเดล ดำเนินการต่อเนื่องสู่ปีที่ 6 ผลตอบรับที่ดีจากเกษตรกรผู้ทำนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและประชาชนทั่วไป เผยช่วยลดพื้นที่นาข้าวเสียหายจากน้ำหลาก เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการประมงภายหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ อีกทั้งบรรเทาอุทกภัยในเขตพิษณุโลกและสุโขทัย ปีนี้ดีเดย์เริ่มปล่อยน้ำเตรียมแปลงเข้าทุ่งบางระกำ 2.65 แสนไร่ ตั้งแต่ 15 มีนาคม 2565 นี้
บ่ายวันนี้ 14 มี.ค. 2565 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมการปล่อยน้ำเข้าทุ่งบางระกำ ตามแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบผลผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก ณ บริเวณคลองแยงมุม ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการ “บางระกำโมเดล”ต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 6 ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ครอบคลุมอำเภอพรหมพิราม อำเภอเมือง อำเภอบางระกำ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก และ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมา ช่วยลดความเสี่ยงปัญหานาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหาย จากเดิมที่จะมีพื้นที่นาถูกน้ำท่วมเสียหายนับแสนไร่เป็นประจำ ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการฯ มาเมื่อปี 2561 ไม่พบพื้นที่นาปีของทุ่งบางระกำได้รับความเสียหายจากฤดูน้ำหลากอีกเลย ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเริ่มเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนของทุกปี ช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ชาวนาในทุ่งบางระกำได้เป็นอย่างดี
“ทุ่งบางระกำเป็น 1 ใน 11 ทุ่งที่กรมชลประทานปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมา โดยในปีนี้จะเริ่มส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้ทุ่งบางระกำพื้นที่ 2.65 แสนไร่ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 จนเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 รวมปริมาณน้ำที่จัดสรรประมาณ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายหลังที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว จะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดพิษณุโลก และตัวเมืองสุโขทัย รวมทั้งด้านท้ายน้ำตั้งแต่ จังหวัดพิจิตรลงไป หน่วงน้ำไว้รอการระบายไม่ให้เกิดผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะเดียวกันได้ร่วมกับกรมประมง จัดหาพันธุ์ปลาน้ำจืดมาปล่อยเข้าทุ่งบางระกำ ช่วยสร้างอาชีพประมงให้เป็นรายได้เสริมกับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย และเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน จะระบายน้ำจากทุ่งให้เหลือน้ำค้างทุ่งประมาณ 30% ไว้ให้เกษตรกรเตรียมแปลงทำนาปรังต่อไป เป็นการประหยัดน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนหลักได้เป็นอย่างมาก” นายประพิศฯ กล่าว
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้ายว่า ตลอดเวลาดำเนินโครงการบางระกำโมเดลตั้งแต่ปี 2560 ได้รับความพึงพอใจ การตอบรับที่ดีจากประชาชนในพื้นที่และเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เนื่องด้วยช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ในขณะเดียวกับช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วย นับว่าโครงการบางระกำโมเดลตอบโจทย์บรรเทาปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับผู้ใช้น้ำได้ทั้งลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำเจ้าพระยา