พ่อเมืองประจวบฯวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคาร 5 ชั้น รพ.ปราณบุรี มูลค่า 141 ล้านบาทรองรับผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้ป่วยนอก 5 ชั้น โรงพยาบาลปราณบุรี มี  นพ.วรา เศลวัตนะกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.ประจวบฯ นพ.ดำรงรักษ์ ชูไพฑูรย์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลปราณบุรี นพ.จิตตรัตน์ เตชวุฒิพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวหิน นพ.สุทธิรักษ์ บัวแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ นายปรีดา สุขใจ นายอำเภอปราณบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาคประชาชนและแขกผู้มีเกียรติจำนวนมากร่วมในพิธี

สำหรับการก่อสร้างอาคารดังกล่าว จากที่ในอดีตอำเภอปราณบุรียังไม่มีโรงพยาบาลชุมชน มีเพียงสถานบริการด้านสาธารณสุขได้แก่สถานีอนามัยซึ่งแต่ละแห่งอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอปราณบุรีมาก และการคมนาคมยังไม่เจริญ ทำให้การเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลมีความยากลำบาก อีกทั้งยังขาดบุคลากการแพทย์ นายอุทัย ศุกระกาญจน์ นายอำเภอปราณบุรีสมัยนั้นได้มีความคิดที่จะก่อตั้งโรงพยาบาลใน อ.ปราณบุรีขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จึงได้มีความคิดริเริ่มในการจัดหาทุนพร้อมขอรับบริจาคจากประชาชน ผู้มีจิตศรัทธา กลุ่มองค์กร ห้างร้านต่างๆ เพื่อจัดหาซื้อที่ดินสำหรับก่อตั้งโรงพยาบาล ต่อมาในปี พ.ศ.2529 จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลปราณบุรีขึ้นในเนื้อที่ประมาณ 49.3 ไร่ เปิดให้บริการเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2529 มี นพ.ประสงค์ ปานไพรศล เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลปราณบุรีคนแรก และในปี 2538 ได้ยกระดับฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ต่อมาในปี 2545 นายสมเกียรติ ลีธีระ อดีตประธานมูลนิธิสว่างแผ่ไพศาลธรรมสถานปราณบุรี ได้บริจาคเงินจำนวน 33 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคาร 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง ได้แก่ อาคารลีธีระ 1 (ตึกอุบัติเหตุ) และอาคารลีธีระ 2 (ตึกผู้ป่วยหญิง) เปิดให้บริการและยกระดับฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 60 เตียง

ปัจจุบันอำเภอปราณบุรี มีความเจริญหนาแน่นด้วยประชากรและนักท่องเที่ยวรองจากอำเภอหัวหิน จึงต้องมีการพัฒนาทั้งด้านอาคารบริการและด้านบุคคลากร โรงพยาบาลปราณบุรีมีแพทย์เฉพาะทาง ทางศัลยกรรม และในอนาคตจะมีแพทย์เฉพาะทางด้านกุมารแพทย์ มีบุคลากรทางการแพทย์และสหวิชาชีพ จำนวน 116 คน สายสนับสนุน จำนวน 196 คน รวมบุคลากรทั้งหมด 312 คน จากสถิติผู้มารับบริการ 5 ปีย้อนหลังมีผู้รับบริการเพิ่มขึ้นทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โรคที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือด โรคหอบหืดและโรคหัวใจ ปัจจุบันมีผู้ป่วยมาใช้บริการโรงพยาบาลปราณบุรีเฉลี่ยวันละ 500 คน จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเพื่อรองรับเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น ได้รับงบประมาณสนับสนุนในปี 2564 จำนวน 141,002,000 บาท มีพื้นที่ 9,796 ตรม. ประกอบด้วยคลินิกผู้ป่วยนอก 3 ชั้น และอาคารสำนักงาน 2 ชั้น เป็นอาคารที่มีความทันสมัย มีระบบความปลอดภัย สามารถรองรับประชาชนในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มารับบริการ ลดความแออัด ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข

นายเสถียร เจริญเหรียญ กล่าวว่าต้องขอชื่นชมโรงพยาบาลปราณบุรีและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯในการดูแลผู้ป่วยจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท แรงกายแรงใจจนสามารถควบคุมโรคได้อย่างเป็นระบบ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น มีความรุนแรง เฉียบพลัน และมีการขยายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว หน่วยงานบริการด้านสาธารณสุขจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงตลอดเวลาทั้งในด้านการส่งเสริมบุคคลากรให้มีการเพิ่มพูนความรู้และทักษะ ด้านการให้บริการ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ด้านอาคารสถานที่เพื่อให้มีความเหมาะสมรองรับได้ทุกสถานการณ์เพื่อรองรับการให้บริการ ลดความแออัด และประชาชนผู้มารับบริการได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น.

อุดมศักดิ์ นิ่มเซียน.ประจวบฯ


Scroll to Top

แฉข่าวเด่น ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า