รร.ดรุณาราชบุรี จัดกิจกรรมสอนนักเรียนทำว่าวปักเป้า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะว่าวไทย ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน
วันที่ 24 ก.พ. 65 บาทหลวง ดร.จำเนียร จิตเสรีวงศ์ อธิการโรงเรียนดรุณาราชบุรี พร้อมด้วยนายศักดิ์ชัย พิศาลผล นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ได้มาเยี่ยมดูกิจกรรมโครงการ “นานาสาระ สร้างคนเป็นอัจฉริยะ” ที่หอประชุมโรงเรียดรุณาราชบุรี เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่เด็ก ๆ โดยมีนายดุสิต จิรภัทรากร เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้มาร่วมเยี่ยมชมดูกิจกรรมอนุรักษ์การทำว่าวไทยโบราณ โดยมีนายพันธุ์ แก้วนุ้ย วิทยากรพิเศษ ซึ่งมีความรู้ศิลปะการทำว่าวไทยหลายรูปแบบ ทั้งว่าวจุฬา ปักเป้า ว่าวควาย ว่ายดุ๊ยดุ่ย และว่าวอื่น ๆ อีกหลายชนิด มาสอนให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-5 แบ่งการสอนเป็นคาบ ๆ ละ 200 คน รวม 2,200 คน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การทำว่าวปักเป้าตามขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกไม้ไผ่ การเหลา การขึ้นโครง การมัดเชือกโครงว่าว และการติดกระดาษ ที่จะมีเทคนิคการทำการผูกเชือกที่สามารถทำให้ว่าวขึ้นทะยานสู่ท้องฟ้าได้ ตลอดจนถึงการดูทิศทางของลมที่จะนำว่าวไปเล่น เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ของการทำว่าวปักเป้าที่จะสามารถนำวิชาไปทำเป็นอาชีพทำว่าวขาย หรือ ทำว่าวเล่นด้วยตัวเองได้ ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และยังเป็นความรู้เฉพาะบุคคล ซึ่งปัจจุบันการเล่นว่าวลดน้อยลงและกำลังจะสูญหายไป
นายพันธุ์ แก้วนุ้ย วิทยาการพิเศษ กล่าวว่า มีความรู้การทำว่าวมาตั้งแต่เด็ก ตามประวัติว่าวไทยมีการเล่นมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และในยุคปัจจุบัน สมัยก่อนจะมีการเล่นแข่งขันกันระหว่างว่าวปักเป้าและว่าวจุฬา แต่ปัจจุบันนี้ว่าวเหล่านี้กำลังจะเลือนหายไป คนที่มีฝีมือในการทำว่าวค่อนข้างลดน้อยลง เด็กในปัจจุบันไปหมกมุ่นกับโทรศัพท์มือ ทำให้วัฒนธรรมเก่า ๆไม่มีการพูดถึงกัน วันนี้ถือเป็นโอกาสดี ที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี นักเรียนได้มีโอกาสมาเรียนรู้การทำว่าวขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง สามารถขึ้นเล่นบนฟ้าได้ มีอยู่ 2 ชนิด มีแบบลักษณะปีกสั้น โครงยาว ว่าวชนิดนี้จะไม่ระลานตัวอื่น ๆ ขึ้นได้หลายตัว แต่อีกชนิดเป็นลักษณะปีกยาวกว่าโครง แบบนี้จะขึ้นเล่นแบบระลานว่าวตัวอื่นขึ้นได้ไม่มาก เป็นว่าวแบบที่ใช้แข่งขันกับว่าวจุฬาในสมัยโบราณ จึงอยากให้เด็ก ๆได้ช่วยกันอนุรักษ์ว่าวโบราณไว้
ขั้นตอนทำ ใช้ไม้ไผ่สีสุกใช้ช่วงตรงกลางลำจะมีความหนาพอดี นำมีดผ่าเป็นซี่ เหลาให้เป็นโครงช่วงกลางจะค่อนข้างหนา ส่วนช่วงปลายทั้งสองข้างจะเรียวบาง ต้องชั่งน้ำหนักของไม้พอดีกันทั้งสองข้าง จึงจะได้โครงว่าวที่มีน้ำหนักเท่ากัน เวลาผูกเชือกต้องมีระยะห่างเท่ากันตามส่วน ว่าวถึงจะสามารถทะยานขึ้นบนฟ้าได้ โดยจะต้องใช้ผ้าต่อทำเป็นหางว่าวช่วยในการถ่วงน้ำหนักของตัวว่าวให้เกิดการทรงตัวที่ดี นอกจากนี้ยังมีว่าวที่ติดคันธนูเรียกว่า ว่าวควาย จะมีเสียงดังเวลาทะยานขึ้นบนท้องฟ้า และยังมีว่าวหางนกยูง ว่าวปักเป้า และว่าวอีกหลายรูปแบบที่สามารถทำได้อย่างสวยงามตามจินตนาการ
ส่วนช่วงการเล่นว่าว ต้องดูทิศทางของลมจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม- เมษายน เป็นลมจากทางทิศใต้สู่ทิศเหนือเป็นช่วงที่ดีที่สุดของการเล่นว่าวมากที่สุด จากการสอบถามเด็ก ๆ น้อง ๆ บอกว่าเคยเห็นว่าว แต่ไม่เคยเล่น บางคนเคยเล่นเพราะไปหาซื้อมา ทำไม่เป็น การสอนครั้งนี้ทำให้เด็กทำว่าวเป็นในเบื้องต้น สามารถนำความรู้ไปทำว่าวเล่นเองที่บ้านได้ด้วย
นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้จัดกิจกรรมการสอนการปั้นดิน มี อาจารย์อุดม และอาจารย์ สุนีย์ นิลรัตน์สุวรรณ วิทยากรพิเศษ มาช่วยฝึกสอน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-5 เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ศิลปะการปั้นดินเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ นำไปใช้ประโยชน์ เช่น ปั้นเป็นแก้วกาแฟ ตุ๊กตา ที่ใส่ดินสอ ถาดรองแก้ว ตามจินตนาการของเด็ก ๆ ได้แสดงออกผ่านศิลปะการปั้นอย่างสนุกสนานภายนอกห้องเรียน และยังสามารถนำความรู้ที่ได้กลับไปฝึกฝนปั้นเป็นชิ้นงานแฮนด์เมดของตัวเองขายแก่ผู้สนใจได้อีกทางหนึ่ง