ม.เกษตร ผนึกกำลัง ซีพีเอฟ ซีพีพี ยกระดับงานวิจัย-การศึกษาของชาติ นำร่องการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์กัญชา และอาหารเพื่อนักกีฬา
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ห้องกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรักษ์ วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding – MoU) และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Agreement – MoA) กับนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด หรือ ซีพีพี บริษัทในเครือซีพี เพื่อยกระดับงานวิจัยด้านอาหารและการเกษตร ควบคู่กับพัฒนาการศึกษาของประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาหลักสูตร ด้านพัฒนางานวิจัย และด้านการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นเปิดโอกาสให้นิสิตได้แสดงศักยภาพของตนเอง ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและการลงมือทำจริง ช่วยสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีทักษะความรู้ที่ตรงตามความต้องการของตลาด
โดยมีคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย และบริษัท ร่วมด้วย ได้แก่ รศ.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร รศ.อภิสิฎฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล และ ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย MoU และ MoA ซึ่งนำไปสู่สัญญาให้ทุนอุดหนุนโครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์กัญชาไทยให้มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีส่วนร่วมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารของไทย ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และมีความเหมาะสมกับบริบทความต้องการของคนไทย เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ และเพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านความร่วมมือในการดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ อาทิ อาหารเพื่อนักกีฬา อาหารเพื่อผู้สูงวัย จุลินทรีย์โปรตีนทางเลือก อาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อยกระดับงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในเชิงอุตสาหกรรม
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนึกถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านวิชาการ การศึกษาวิจัย รวมถึงการดำเนินกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีความเป็นเลิศในด้านการเกษตร และวิทยาศาสตร์อาหาร จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงองค์กรทั้ง 2 ฝ่าย ในการนำองค์ความรู้ต่อยอดด้านงานวิจัย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยบนเวทีโลก
“ซีพีเอฟมุ่งมั่นส่งมอบอาหารปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยทุ่มเทพัฒนานวัตกรรมที่มุ่งเน้นสุขโภชนาการ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ผู้บริโภคในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้คนไทยมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ผลิตเชิงอุตสาหกรรม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายประสิทธิ์กล่าว
ด้านนายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีพีกล่าวเสริมถึงความมุ่งมั่นขององค์กร “ในฐานะของบริษัทที่เป็นดั่งต้นน้ำขอธุรกิจการเกษตรภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีพีทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตกรของไทย ด้วยเหตุนี้เอง ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจคือ “เกษตรกร คือ คู่ชีวิต” เพราะเราต้องการดูแลให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เรามุ่งพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรไทยให้มีประสิทธิภาพและมีความเป็นเลิศไม่แพ้ชาติอื่น บริษัทต้องการเห็นเกษตกรไทยมีรายได้ที่คงที่และยั่งยืน จึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจแบบ Business-to-Customer (B2C) ของเกษตกรไทยมีรูปแบบที่ครบวงจร มีคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่การผลิตไปจนการนำผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ตลาด ร่วมถึงการส่งเสริมการพัฒนาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร การดูแลทางด้านการตลาดให้แก่เกษตกรผ่านนโยบารับซื้อคืน และให้การสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ สำหรับการเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน บริการการเกษตร เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรไทย
“ซีพีพีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสจับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การผนึกกำลังระหว่างซีพีพีและซีพีเอฟในครั้งนี้ จะแตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะจะเป็นการนำองค์ความรู้ที่เรามีจากประสบการณ์ของพวกเราในฐานะผู้ประกอบการ มาผนวกรวมกับองค์ความรู้จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำ ที่มากไปด้วยนิสิตและคณาจารย์ที่รอบรู้ และเปี่ยมด้วยความสามารถ มีความเชื่อมั่นว่า พวกเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่อุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทยได้แน่นอนจากการจับมือกัน” นายสุเมธกล่าว
ทางด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความพร้อมและมีความโดดเด่นในศาสตร์แห่งแผ่นดิน เป็นมหาวิทยาลัยของคนทั้งโลกมากว่า 79 ปี ที่มาร่วมกันใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยผ่านการบริการวิชาการ งานวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมระดับโลก ช่วยเหลือประชาชน ประเทศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรมหาวิทยาลัย และนิสิตปัจจุบันกว่า 70,000 คน จะช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาด้านอาหารและเกษตรเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติร่วมกัน
“ความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กรในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันยกระดับงานวิจัยด้านอาหารและการเกษตร และการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้ก้าวไกลและยั่งยืน ขอขอบคุณ ซีพีพี และ ซีพีเอฟ ที่นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ลงมือทำจริงเข้ามาเชื่อมโยงและเติมเต็มองค์ความรู้ในสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาวิชาการและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ตลอดจนถ่ายทอดความรู้แก่สังคม” ดร.จงรัก กล่าว