คนบ้านกร่างนับร้อยคน ค้านไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ

ค้านไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 9.9 เมกะวัตต์ ไม่ชอบมาพากล ประชาพิจารณ์ 460 คน ไม่เห็นด้วยแค่ 4คน จากคนใน 6หมู่บ้านของบ้านกร่าง 6,700คน

10.00 น. วันนี้ 25 เม.ย.65 นายจรวย ดีแล้ว ส.จ. เขต อ.เมืองพิษณุโลก ในฐานนะแกนนำประธานอนุรักษ์บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านบ้านกร่างจำนวนกว่า 100 คน เดินทางยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 9.9 เมกะวัตต์ เนื่องจากหวั่นชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางด้านต่างๆ ของโรงไฟฟ้าขยะ ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมีการทำประชาคมหรือประชาวิจารณ์จากชาวบ้าน

ทั้งนี้ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีความประสงค์ที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าระบบปิด ตามโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ พื้นที่ตั้งโครงการคือ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งดำเนินในลักษณะร่วมทุนโดย องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง เป็นผู้ดำเนินโครงการแล้วให้เอกชนที่เข้ามารับโครงการเป็นผู้ลงทุน หลังจากที่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น และประชาสัมพันธ์โครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ซึ่งมีการจัดประชุมกันใน วันที่ 25 กันยายน 2561 ขณะนั้นถูกคัดค้านโดยประชาชนในพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่าง โดยตัวแทนราษฎรยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งราษฎรในพื้นที่คิดว่าโครงการนี้ต้องไม่เกิดขึ้นในพื้นที่อีกแล้ว

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง ได้มีประกาศ  เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง เป็นผู้ดำเนินการโครงการทั้งหมดในทุกหมู่บ้าน ที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 3 กิโลเมตร รวมได้ 6 หมู่บ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินการอย่างตามนโยบายต่อเนื่อง  โดยการแจกแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วไปประจำแต่ละหมู่บ้าน เพื่อตอบแบบสอบถามเป็นรายบุคคลในการรับฟังความคิดเห็น  การดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างเร่งด่วนโดยอ้างว่าเป็นภารกิจของภาครัฐในการดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทย

ข้อสงสัยอีกประการหนึ่งการที่ อบต.บ้านกร่าง ออกหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้าน ประกาศเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการกำจัดขยะมูลฝอย ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 แต่มีการสรุปผลรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 หากเทียบจากจำนวนประชากร หมู่ 4,5,6,7,9,10 รวมเกือบ 6,700 คน แต่มีการออกแบบสอบรับฟังความคิดเห็นเฉพาะบางกลุ่ม บางหมู่บ้านเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้วนั้นยังไม่ถึงครึ่ง มีตารางชี้แจงว่าจากการสรุปแบบสอบถามทั้งหมด 6 หมู่ รวมได้ 460 คน มีผู้เห็นด้วยกับโครงการ 456 คน ไม่เห็นด้วย 4 คน แต่ข้อเท็จจริงประชากรส่วนใหญ่ กลับไม่ได้รับแบบสอบถามไม่ได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ทาง อบต.บ้านกร่าง ทำการสำรวจแบบสอบถามเฉพาะกลุ่มรายย่อยนี้ให้ทั่วถึง โครงการนี้เป็นโครงการขนาด ใหญ่มีการลงทุนมหาศาลในวงเงิน 1,800 ล้านบาท จากการเผยแพร่เว็บไซ์ อบต.บ้านกร่าง เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ประชาชนจะต้องได้รับทราบข้อมูลองค์ความรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของโครงการ ถึงข้อดีข้อเสียผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศทางน้ำ กลิ่นเหม็น แมลงวัน สารเคมีปนเปื้อน ควันจากการเผาไหม้ รถบรรทุกขยะที่ต้องลำเรียงเข้ามาสู่โรงงานขนาด 9.9  เมกะวัตต์ การจราจร และปัญหาอื่นๆที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมอีกจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำบลบ้านกร่าง เป็นสถานที่ตั้งสถาบันการศึกษาที่สำคัญทั้งระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และประถมศึกษา  ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม โรงเรียนบ้านกร่าง(พระขาวชัยสิทธิ์) โรงเรียนวัดธรรมเกษตร (เกษตรานุเคราะห์) โรงเรียนวัดแหลมโพธิ์ และโรงเรียนบ้านแม่ระหัน นอกจากนั้นยังมีวัดวา อาราม ที่ใช้บำเพ็ญศาสนกิจทางศาสนา จำนวน 8  วัด  อาทิ วัดพระชาวชัยสิทธิ์ วัดเด่นโบสถ์โพธิ์งาม วัดนิมิตธรรมาราม วัดธรรมเกษตร วัดป่าเลไลย์ วัดเกาะแหลมโพธิ์ วัดพระยายมราช และวัดแม่ระหัน ประชาชนส่วนใหญ่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และมีข้อสงสัยว่าแบบสอบถามรับฟังความคิดเห็นของวันที่ 16 ธันวาคม 2564 เกิดขึ้นอย่างรวบรัด เรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญกับชุมชนและสังคมส่วนรวม แต่ประชาชนไม่ได้ทราบข่าวสารให้แพร่หลาย ทั่วถึงโปร่งใส รับทราบข่าวสารเฉพาะบางกลุ่ม บางราย จึงเกิดเสียงคัดค้านและต่อต้านคล้ายกับปกปิดเอกสารข้อมูล และมีความไม่ชอบมาพากล ซึ่งประชาชนควรได้รับทราบอย่างเปิดเผย กลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่างจึงขอคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ตามโครงการดังกล่าว เพราะเห็นว่าการดำเนินการไม่เป็นไปด้วยความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล และมีความไม่ถูกต้อง ทั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่าง จึงขอให้ผู้มีอำนาจ พิจารณายับยั้งโครงการดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีก จนกว่าการดำเนินการจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนถูกต้องโปร่งใส  ตามขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ที่สมบูรณ์ผลการดำเนินการเป็นประการใด กรุณาแจ้งหรือติดต่อประธานกลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่างทราบภายใน 15 วัน

จากนั้น นายพยนต์  อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้พูดคุยกับแกนนำพร้อมรับหนังสือคัดค้านจากกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป โดยกลุ่มผู้ชุมนุมพึงพอใจก่อนจะแยกย้ายกันกลับไปในที่สุด

สุพิณ พิโลก


Scroll to Top

แฉข่าวเด่น ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า