ชาวนา 5 ตำบล จาก 2 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก กว่า 300 คน รวมตัวกันที่ประตูระบายน้ำ กม.0 ต.หนองแขม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพื่อเรียกร้องให้ชลประทานเปิดน้ำเข้าพื้นที่ทำนา ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล พร้อมเรียกร้องให้เปิดน้ำพร้อมกันกับพื้นที่บางระกำโมเดล เพื่อให้ชาวนาสามารถทำนาพร้อมกัน ทั้งที่บางพื้นที่อยู่ใกล้เขื่อนนเรศวร แต่กลับไม่มีน้ำทำนา
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 เม.ย. 65 ที่ประตูระบายน้ำ กม.0 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล 1 ต.หนองแขม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ได้มีชาวนา 2 อำเภอ จาก 5 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลพรหมพิราม ตำบลหนองแขม ตำบลมะตูม ตำบลท่าช้าง อ.พรหมพิราม และตำบลไผ่ขอดอน อ.เมืองพิษณุโลก จำนวนกว่า 300 คน เพื่อเรียกร้องให้ชลประทานเปิดน้ำเข้าพื้นที่ทำนา ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล พร้อมเรียกร้องให้เปิดน้ำพร้อมกันกับพื้นที่บางระกำโมเดล เพื่อให้ชาวนาสามารถทำนาพร้อมกัน ทั้งที่บางพื้นที่อยู่ใกล้เขื่อนนเรศวร แต่กลับไม่มีน้ำทำนา ซึ่งต่อมานายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก เขต 2 พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาพูดคุยกับชาวนา พร้อมทั้งกล่าวสร้างความมั่นใจให้กับชาวนาว่าจะเป็นผู้ออกหน้าประสานงานเรียกร้องระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบกับทางชาวนาเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการทำนาจนกว่าจะสิ้นฤดูกาลทำนา ขณะที่ นายชัยโรจน์ พฤฒาวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ได้เดินทางมาเจรจา พร้อมยืนยันจะเปิดประตูระบายน้ำ ส่งน้ำให้ประชาชนได้เร็วสุดในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ จากนั้นได้ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อชาวนาที่เดือดร้อนเพื่อขอน้ำไปยังกรมชลประทานอีกด้วย
โดย นางบุญเรือน คุ้มคำ อายุ 59 ปี ชาวนาหมู่ 8 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม กล่าวว่า ที่เดินทางมาในวันนี้เนื่องจากเดือดร้อนไม่มีน้ำทำนา หลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้ลงมือทำนาไว้ จำนวน 20 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 30 ไร่ เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ โดยขณะนี้ต้นข้าวอายุกว่า 1 เดือนแล้ว ต้องการน้ำไปแช่ข้าว เพราะในพื้นที่ฝนไม่ตก ขณะที่ชลประทานหยุดการปล่อยน้ำ ทำให้เกรงว่าต้นข้าวจะยืนต้นตายจึงเดินทางมาเรียกร้องขอให้ชลประทานช่วยเหลือปล่อยน้ำทำนาด้วย
ด้าน นายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก เขต 2 พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า วันนี้มีเกษตรกรโดยเฉพาะในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ชลประทาน จ.พิษณุโลก ได้มาชุมนุมเรียกร้องให้ชลประทานปล่อยน้ำเพื่อให้เกษตรกรทำนาปี เพราะตอนนี้เข้าสู่ฤดูนาปีแล้ว ซึ่งโครงการพลายชุมพล ไม่มีความแน่นอนในการจัดสรรน้ำจากชลประทาน แผนการส่งน้ำก็ไม่มี มิหน่ำซ้ำ พื้นที่โครงการชลประทานอื่นกลับได้น้ำสำหรับทำการเกษตรหมด ยกเว้น โครงการพลายชุมพล ทั้งที่อยู่หน้าเขื่อนนเรศวร รับผิดชอบพื้นที่ 600,000 ไร่ แต่กลับไม่มีการส่งน้ำให้แต่อย่างใด และไม่มีการดูแลชาวบ้านในพื้นที่โครงการ ในวันนี้ชาวนาจึงมาร่วมตัวกันเพื่อเรียกร้องขอให้ทางชลประทานปล่อยน้ำเพื่อทำการเกษตรให้ในครั้งนี้ ชาวบ้านทั้ง 5 ตำบล ทั้งในเขต อ.พรหมพิราม และอ.เมืองที่ได้รับความเดือดร้อน มีพื้นที่เกือบ 200,000 ไร่ จึงขอให้ชลประทานจัดสรรเข้าสู่คลองสายใหญ่และเข้าสู่คลองซอยในพื้นที่ชลประทานที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ทางเกษตรกรและผู้นำท้องถิ่น มีความเห็นตรงกันว่า อยากให้ชลประทานปล่อยน้ำในการเพาะปลูกพร้อมกันทั้งพื้นที่ เลื่อนเวลาขึ้นมาเนื่องจากเดิมเคยปล่อยน้ำให้กลางพฤษภาคมไปแล้ว เจอปัญหาเก็บเกี่ยวหนีน้ำ พอข้าวสุกเจอปัญหาน้ำหลากท่วมข้าวจมน้ำก็เสียหายไม่ได้ราคาเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงยากให้เลื่อนมาปลูกช่วงเดือนเมษายน พ่อเก็บเกี่ยวเสร็จสามารถทำนาต่อรอบ2 ได้ และยังลดความเสียหายได้อีกด้วย นอกจากนี้เวลานี้ต้นทุนการทำนาสูง ปุ๋ยราคากว่า 1,700 บาทแล้ว
นายชัยโรจน์ พฤฒาวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล กล่าวว่า ปัญหาเรื่องน้ำในส่วนของชลประทานนั้น เกิดจากปัญหาเขื่อนสิริกิตติ์เก็บกักน้ำได้น้อยในปีนี้ เลยถูกกำหนดว่าขอให้ใช้น้ำจากการทำนาจากน้ำฝน เพราะไม่ใช่เฉพาะโครงการพลายชุมพลพิษณุโลกที่เดือดร้อน รวมถึงพื้นที่ จ.พิจิตร ดงเศรษฐี ท่าบัว ก็เดือดร้อนเช่นกันพื้นที่กว่า 5 แสนไร่ ก็ประสบปัญหาเช่นกัน เราไม่ใช้พื้นที่ธรรมชาติ มีพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ที่ไม่ได้รับน้ำจากคลองสายใหญ่อย่างเดียวโดยเฉพาะ เมื่อปีนี้ทางกรมชลประทานไม่มีน้ำให้ ซึ่งการทำหากมีการเพาะปลูกพร้อมๆกัน ถ้ามีการเริ่มต้นครั้งที่ 1 ได้ก็จะแก้ไขปัญหาได้ โดยเราจะทำเรื่องขอทางกรมชลประทาน ซึ่งปีที่ผ่านมาเคยขอน้ำไปแล้วในการทำนาก็ทำให้พื้นที่กว่า 2 แสนไร่ไม่ได้รับความเสียหาย ปีนี้ก็จะขอน้ำไปสำหรับการทำนา ประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดว่าน้ำจะมีเพียงพอตลอดฤดูทำนาปีนี้ ส่วนการขอให้เปิดน้ำจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ คาดว่าวันที่ 1 พฤษภาคมนี้จะสามารถปล่อยน้ำให้เกษตรกรได้
อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการเจรจาร่วมกัน ทางชลประทานพิษณุโลก จะทำเรื่องขอไปยังกรมชลประทาน เพื่อจัดสรรน้ำให้เกษตรกร ตามกำหนดเวลา ทำให้เกษตรกรพึงพอใจสลายตัวกลับไปในเวลา 12.00 น.วันเดียวกัน
สุพิณ พิโลก …