ปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ งดจัดกิจกรรมวันช้างไทย 13 มีนาคม 2565 เพื่อให้ช้างได้พักผ่อนแต่ยังคงส่งเสริมการขยายประชากรพันธุ์ช้างไทย ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ที่ยากลำบากในปีนี้ทาง Maesa Elephant Camp ปางช้างแม่สา ของดการจัดกิจกรรม เนื่องในวันช้างไทย 13 มีนาคม 2565 และขอปิดให้บริการในส่วนของปางช้างแม่สาเป็นเวลา 1 วันในวันที่ 13 มีนาคม เพื่อให้โอกาสช้างและควาญได้พักผ่อนในวันดังกล่าว และจะเปิดบริการต่อในวันที่ 14 มีนาคม 2565 จึงขอประกาศให้ทราบล่วงหน้าโดยทั่วกันโดย นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้แจ้ง แต่มีความโชคดีในการสืบพันธุ์ช้างไทยให้คงอยู่สืบไป โดยปางช้างแม่สาลุ้นลูกช้างเกิดใหม่ภายในสองปีข้างหน้า
และเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงการดำเนินโครงการเร่งด่วนในการวางแผนผสมพันธุ์ช้างตามธรรมชาติ โครงการนี้ทางปางช้างแม่สาได้จัดทำขึ้นเพื่อให้มีลูกช้างเกิดใหม่ในปางช้างภายในระยะเวลาสองปีข้างหน้า ประมาณปี 2567 เนื่องจากช้างใช้เวลาตั้งท้องเป็นเวลา 18-23 เดือน ซึ่งการเกิดของลูกช้างมีความจำเป็นมากสำหรับการอนุรักษ์ช้างไทยและสร้างสมดุลในปางช้างแม่สาที่มีจำนวนช้างในวัยชรามากถึง 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าห่วงว่าช้างแม่สาจะมีแต่ล้มตายลง และจะมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสิบปีข้างหน้า
ส่วนปัญหาอีกอย่างคือการขาดพ่อพันธุ์ในปางช้าง และประชากรช้างของแม่สาเป็นลูกคอก พี่น้องเดียวกัน มีจำนวนมากถึง 33 เชือกที่มีพ่อช้างเชือกเดียวกันเกิดจากแม่ช้างที่ต่างกัน ซึ่งถือว่าช้างมีความเป็นเครือญาติ มีเลือดชิด ไม่สามารถผสมกันเองได้ ปางช้างจึงต้องว่าจ้างพ่อพันธุ์จากภายนอก ขั้นตอนในการดำเนินงานได้จัดส่งแม่พันธ์ุออกจากปางไปผสมแล้วจำนวน 2 เชือก คือพังเพิ่มพูนและพังมีนา ส่วนในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 65 ปางช้างเตรียมจะส่งแม่พันธ์ุเชือกที่ 3 คือพังวันเพ็ญที่มีลูกชายแล้ว ชื่อพลายขุนศึก วัย 4 ขวบ
สำหรับผลจากการรายงานของสัตวแพทย์ พบว่าพังเพิ่มพูนถูกผสมไปถึงสามครั้ง และมีโอกาสตั้งท้องสูงมาก โดยมีนมตั้งเต้า และเมื่อบีบดูจะมีน้ำนมไหลออกจากเต้านม ส่วนพังมีนาก็ได้ผสมกับพ่อพันธุ์แล้วเช่นกันแต่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จึงต้องตามลุ้นผลกันต่อไป ทางสัตวแพทย์ของปางช้างแม่สาจะรอให้ครบ 6 เดือนจึงจะเก็บตัวอย่างเลือดจากช้างแม่พันธ์ุส่งตรวจในห้องทดลองดูตรวจดูผลของฮอร์โมน เพื่อยืนยันการตั้งท้องของช้างต่อไป ซึ่งคาดว่าปางช้างแม่สาจะได้รับข่าวดีต่อไปอีกไม่นาน.
นางภัทร์ศินื ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่ รายงาน