วันพุธที่ 22 ธันวาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อ The 3rd International Conference on Renewable Energy, Sustainable Environmental and Agri-Technological Innovation (i-RESEAT 2021) ในรูปแบบ online และ onsite โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวต้อนรับ และ Dr. Rameshprabu Ramaraj ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยพลังงานทดแทน ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ กล่าวรายงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22 – 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ณ ห้อง 80-201 อาคารเรียนรวม 80 ปี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดทาง https://www.youtube.com/watch?v=tJhteFG_Gnc
รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติในครั้งนี้เป็นงานเกี่ยวกับพลังงานทดแทน เทคโนโลยีด้านการเกษตรและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ร่วมมือกับ Kaohsiung Medical University ประเทศไต้หวัน และ University of Stavanger ประเทศนอร์เวย์ และอื่นๆ อีกหลายประเทศ การจัดงานครั้งนี้ได้สนับสนุนจุดยืนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้อันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยมุ่งเน้นการทำความร่วมมือและเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีทางการเกษตร เกษตรอัจฉริยะและนวัตกรรม นอกจากนี้ยังได้เล็งเห็นถึงการสร้างองค์ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของกระบวนเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยุทธศาสตร์ที่ 3 วิจัยและบริการวิชาการด้านเกษตรสมัยใหม่ระดับสากล และยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างและพัฒนานักเทคโนโลยี นวัตกร และผู้ประกอบการ และทิศทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ “Go Green, Go Eco and Go Smart” ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เข้าสู่ความเป็นสากล ผลักดันให้มหาวิทยาลัยก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology/Innovation) ที่มีความเข้มแข็งด้านวิชาการในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น”
ด้าน Dr. Rameshprabu Ramaraj ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยพลังงานทดแทน ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการการจัดงานฯ ร่วมกับ วิทยาลัยพลังงานทดแทน คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ คณะผลิตกรรมการเกษตร คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดขึ้นเพื่อร่วมส่งเสริมให้บุคลากร นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปทั้งในและต่างประเทศได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนสร้างความ ร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผลงานที่นำเสนอมีโอกาสได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับ ISI อีกด้วย ซึ่งในครั้งนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมจำนวน 200 ผลงาน จากทุกทวีป 28 ประเทศทั่วโลก”
นอกจากการนำเสนอผลงานวิชาการแล้วยังได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการในระดับนานาชาติในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น
– ของเสียสู่ของมีค่า: การนำทรัพยากรกลับมาใช้อย่างยั่งยืน (Waste to Wealth: Resource Recovery & Sustainability) โดย Dr. Ashok Pandey บรรณาธิการวารสาร Bioresource Technology ระดับ Q1 มี Impact factor 9.46กระบวนการเผาไหม้จาก
-เชื้อเพลิงของแข็ง (Combustion of Solid Biofuels) โดย Dr. Martin Kaltschmitt บรรณาธิการวารสาร Biomass Conversion and Biorefinery ระดับ Q1 มี Impact factor 4.987
-ผลิตภัณฑ์ชีวภาพและโภชนาการจากสาหร่าย (Bioproducts and nutrition from algae) โดย Dr. Yusuf Chisti ผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายอันดับ 1 ของโลก มีผลงานวิชาการได้รับการอ้างอิงมากกว่า 50,000 ครั้ง
โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับฟังการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และเยี่ยมชมนิทรรศการได้ที่ ห้องประชุม 80-201 อาคารเรียนรวม 80 ปี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กิจกรรมในครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของงานวันเกษตรแม่โจ้ออนไลน์ 2564 Kaset Fair @Maejo 2021 >>Next normal “นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน” (วิถีใหม่) Smart Agricultural Innovation for Sustainability ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22 – 29 ธันวาคม 2564 อีกด้วย