วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดกิจกรรมติดตามผลการดำเนินงานและจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวต้อนรับ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์และทีมงานจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะ ในโอกาสลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมทั้งผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบของโครงการฯ โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินโครงการฯในแต่ละด้าน ณ ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ตามนโยบายการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยในปี 2564 มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้โปรแกรม 16 โครงการปฏิรูประบบ อววน. แผนงานย่อย “การพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนขั้นสูง” จำนวน 88,706,000 บาท โดยมหาวิทยาลัยจะต้องส่งมอบผลผลิตตัวชี้วัดตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (จำนวน 9 ตัวชี้วัด) MJU Enhancing SMEs and New Entrepreneurs with Smart and Modern Agricultural Technology Innovation (SMATI) มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมีอัตลักษณ์ความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร ความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล เครือข่ายความร่วมมือ และปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางและมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม และขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการขับเคลื่อนผลผลิตการดำเนินงานได้สำเร็จลุล่วง อันจะนำไปสู่การยกระดับและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สอดคล้องกับแนวคิดหลักของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และร่วมขับเคลื่อนการพลิกโฉมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology Development and Innovation) ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”
สำหรับผลผลิตตัวชี้วัดที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินงาน มีหน่วยงาน/ผู้ประกอบการที่ร่วมดำเนินการในโครงการ จำนวน 53 กลุ่มวิสาหกิจ/ธุรกิจ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แพร่ เชียงราย น่าน สุโขทัย ลำปาง พิจิตร ตาก และขอนแก่น ซึ่งได้สำเร็จลุล่วงและจะต้องส่งมอบตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จำนวน 9 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1.แผนการสนับสนุนด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ 1 แผน , 2.จัดทำ Module สำหรับฝึกอบรมผู้ประกอบการที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรวิศวกรรมฟาร์มอัจฉริยะและนวัตกรรมเกษตร ซึ่งสามารถพัฒนาเป็น Credit bank/ Non-degree เทียบเคียงเป็นรายวิชาได้ จำนวน 6 Module Module ซึ่งดำเนินการจัดอบรมไปแล้วมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 130 คน , 3.มีพื้นที่ผลิตการเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรและอาหาร ได้แก่ พื้นที่ MJU Library Maker Space และศูนย์เรียนรู้สร้างสรรค์บัณฑิตผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ณ ศูนย์วิจัยพลังงาน ขนาดพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็น Co-Working Space และ Maker Space , 4.พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย จำนวน 88 ผลิตภัณฑ์ โดยจำแนกเป็น กลุ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร (food) 52 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (non-food) 32 ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ 4 ผลิตภัณฑ์ , 5.พัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2 สาขาวิชา ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมฟาร์มอัจฉริยะและนวัตกรรมเกษตร วิชาเอกวิศวกรรมฟาร์มอัจฉริยะ และ วิชาเอกวิศวกรรมนวัตกรรมเกษตร ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดรับนักศึกษา , 6.มีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย 57 คน , 7.จำนวนผู้ประกอบการใหม่ที่ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนา 2,117 คน โดยได้ออกแบบหลักสูตรเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ครอบคลุมวงจรธุรกิจ เช่น การแปรรูปพืช สัตว์ ประมง การส่งเสริมการตลาด การจำหน่าย การออกแบบตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ และระบบเกษตรอัจฉริยะ ครอบคลุมทุกวิทยาเขต โดยจัดฝึกอบรม่ไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 62 หลักสูตร , 8.จำนวนธุรกิจใหม่ (SMEs) ซึ่งสร้างธุรกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย จำนวน 54 กิจการ จำแนกเป็นกลุ่มธุรกิจอาหาร (food) จำนวน 31 กิจการ กลุ่มธุรกิจเกษตรและชีวภาพ (non-food) จำนวน 21 กิจการ กลุ่มธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ จำนวน 2 กิจการ , 9.จำนวนตลาดหรือช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการผู้ประกอบการใหม่และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยได้พัฒนาตลาดหรือช่องทางที่ครอบคลุมทุกวิทยาเขตและระบบออนไลน์จำนวน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย การพัฒนากาดแม่โจ้ 2477, ศูนย์พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและรองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ม.แม่โจ้-แพร่, การส่งเสริมและยกระดับตลาดสินค้าชุมชนอำเภอละแม จังหวัดชุมพร ม.แม่โจ้-ชุมพร และ พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ กาดแม่โจ้ 2477 (อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ)
จากนี้ มหาวิทยาลัยได้มีแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปเพื่อเร่งขับเคลื่อนกิจกรรมให้ตรงตามแผนงาน และต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสมของสถานการณ์ โควิด-19 รวมถึงประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้ทั่วถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น
นิวัตร เชียงใหม่