ศูนย์บริหารจัดการน้ำศรีสะเกษ เร่งจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เน้นช่วยชุมชนไร้ประปา-ขาดแคลนน้ำซ้ำซาก
เมื่อบ่าย วันที่ 15 มี.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดศรีสะเกษ ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2565 โดยมี นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตามที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) แจ้งให้จังหวัดป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2565 โดยติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. นี้ จะมีปริมาณฝนตกต่ำกว่าปกติ และเข้าสู่ดูร้อน ตั้งแต่ประมาณกลางเดือน ก.พ. เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นจะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางแห่ง เนื่องจากสภาวะดังกล่าวอาจทำให้เกิดความแห้งแล้งขึ้นในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ
รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อว่า ดังนั้นเพื่อให้การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ จังหวัดศรีสะเกษ จึงได้เตรียมการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษ (ภัยแล้ง) ปี 65 ขึ้น พร้อมแจ้งอำเภอทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์บัญชาการณ์เหตุการณ์อำเภอ และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าว และมอบหมายหน่วยงานสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือในการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค พร้อมทั้งสำรวจข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง และการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในทันที ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการสูบส่งน้ำเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อกักเก็บ ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งแล้ว จำนวน 7 จุด 4 อำเภอ 4 ตำบล 7 หมู่บ้าน ได้ปริมาณน้ำในพื้นที่ร่วมทั้งหมด จำนวน 495,472 ลูกบาศก์เมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการ 5 จุด ในพื้นที่ อ.ไพรบึง และอ.ห้วยทับทัน
“อย่างไรก็ตามขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย จัดเป็นชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง และให้สำรวจซ่อมแซมแหล่งเก็บกักน้ำ รวมถึงภาชนะเก็บน้ำกลางให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ พร้อมทั้งจัดทำแผนการแจกจ่ายน้ำในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน โดยให้ความสำคัญกับหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ไม่มีระบบประปาเป็นพิเศษ รวมถึงกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำกลาง เพื่อการอุปโภค บริโภค บริเวณสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ มีความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการซ่อมสร้าง บำรุงรักษาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสำรวย กล่าว.
ณัฐธรชนม์ สิริโชติสกุล / ศรีสะเกษ