ชาวบ้านชุมชนบ้านกิ่วมื่น ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง ผวจ.ลำพูน จากกรณีที่ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านรวม 1 พันครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางกลิ่นและน้ำน่าเสียจากบ่อบำบัด เนื่องจากฟาร์มสุกรที่ดำเนินการอยู่ใกล้ชุมชน ตัวแทนชาวบ้านเผยผู้นำชุมชนแอบนำลายเซ็นต์ชาวบ้าน ในการทำประชคมกรณีอื่นมาให้เจ้าของฟาร์มหมู ใช้ในการขยายฟาร์มหมู จนชาวบ้านแจ้งความผู้ใหญ่บ้านกำลังเป็นคดีความกันอยู่
วันที่ 3 พ.ค.65 ที่ บริเวณหน้าอาคารศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ประชาชนชุมชนบ้านกิ่วมื่น หมู่ที่ 8 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นำโดย นายสมฤทธิ์ ใบยา นาง ปัณณวีร์ วงษ์ประเสริฐ นางสาว นภัสนันท์ นันท์ทัตจิรโชติ ตัวแทนชาวบ้าน ได้รวมตัวกันพร้อมกับคนในชุมชนจำนวนกว่า 50 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในชุมชนที่เกิดจากการดำเนินกิจการของ ฟาร์ม KTN Farming โดย นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้ นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ารับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้าน
นายพนม คำใส ชาวบ้านกิ่วมื่น หมู่ที่ 8 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เผยว่า เนื่องจากในชุมชนบ้านกิ่วมื่น-ริมร่อง หมู่ 8 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีฟาร์มสุกรในนาม “เกษรฟาร์ม” ซึ่งในปัจจุบัน คือ ” KTN Farming” ที่ได้ดำเนินกิจการมามากกว่า 20 ปีและตั้งอยู่ห่างจากชุมชนไม่ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินกิจการของฟาร์มฯ ในระยะแรกไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนมากนัก เพราะเป็นฟาร์มขนาคเล็ก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2562 ทางฟาร์ม “KTN Farming” มีการขยายโรงเรือนและเพิ่มจำนวนสุกรขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้ผ่านการทำประชาคมจากคนในชุมชนและไม่ได้ขออนุญาตการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมจากเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบทางสภาพแวดล้อมในชุมชน โดยเฉพาะมลพิษทางกลิ่นที่มาจากมูลสุกร และน้ำน่าเสียจากบ่อบำบัดที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้ประชาชนรวม 4 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 1 พัน ครัวเรือน ได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านานกิ่วมื่น-ริมร่อง ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าฟาร์ม “KTN Faming” เพื่อแจ้งปัญหาความเดือดร้อนรำคาญ จากกลิ่นมูลสุกรและขอทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทางผู้ประกอบการ โดยมีคณะเจ้าหน้าที่เข้าร่วมรับฟังและรับทราบปัญหาจากชาวบ้าน จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ ปรากฏว่าฟาร์มฯได้มีการปล่อยน้ำเสียจากบ่อบำบัดลงสู่ลำเหมืองสาธารณะ ซึ่งทางเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ก็ได้นำรถแบคโฮมาแก้ไขปิดทางน้ำเสีย จากนั้นได้มีการเข้าสำรวจภายในฟาร์ม โดยมี เจ้าของกิจการ นำในการเดินสำรวจ ซึ่งเจ้าของกิจการได้ปฏิเสธที่จะให้เข้าไปนับจำนวนสุกรในโรงเรือน อนุญาตให้เพียงสำรวจบริเวณรอบนอกโรงเรือนเท่านั้นและทางเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้แก่ฟาร์มดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ให้ผู้ประกอบการดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลให้แล้วเสร็จ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ 24 มีนาคม 2565 2. ให้ผู้ประกอบการประสานทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบระบบไบโอแก๊สว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ อย่างไร ปริมาณความจุและการระบายแก๊สเป็นอย่างไร พร้อมทั้งรายงานให้เทศบาลตำบลมะเขือแจ้ทราบ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ 24 มีนาคม 2565 3. ให้ผู้ประกอบการดำเนินการติดตั้งพัดลมและตัวกรองกลิ่นเหม็นให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 27 มีนาคม 2565
อย่างไรก็ตามทางฟาร์มฯ ได้ดำเนินการแล้ว และรายงานต่อเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ ในวันที่ 7 เมษายน 2565 แต่ปัญหาเรื่องมลพิษจากกลิ่นมูลสุกรและน้ำเน่าเสียที่ปล่อยจากฟาร์มฯ ลงสู่ลำเหมืองสาธารณะ ยังคงสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชาวบ้านเช่นเดิมและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นทางชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 28 เมษายน 2565 เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของฟาร์มฯ อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้มีการเจรจายื่นข้อเสนอจากทางชาวบ้าน ประกอบด้วย 1. ขอทราบจำนวนแท้จริงของสุกรที่เลี้ยงอยู่ภายในฟาร์ม ณ ปัจจุบัน 2. กำหนดระยะเวลาที่แน่ชัดในการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นจากมูลสุกร แต่ปรากฏว่าทางฟาร์ม ยังคงปฏิเสธการนับจำนวนสุกร โดยอ้างว่า กลัวโรคติดต่อ แม้ชาวบ้านได้เสนอให้มีการ ไลฟ์สดในการนับจำนวนสุกร โดยให้บุคลากรของทางฟาร์มเป็นผู้นับ แต่ก็ถูกปฏิเสธ ในส่วนของการกำหนดระยะเวลาการแก้ไขปัญหากลิ่นมูลสุกรนั้น ทางฟาร์มก็ไม่สามารถระบุเวลาให้ชัดเจนได้ การเจรจาจึงได้ยุติลง
ขณะที่นายรันต์ ศิริหิรัญรัชตะ อดีต ผู้ใหญ่บ้านบ้านกิ่วมื่น เปิดเผยว่า ทางฟาร์มหมูมีโครงการจะขยายโรงเลี้ยงหมู เพิ่มซึ่งไม่ได้ผ่านการประชาคมกับชาวบ้าน แต่ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันได้แอบนำผลการประชาชคมของชาวบ้านในโครงการแก้ไขรายละเอียดมอบให้ฟาร์มหมูใช้ในการประกอบขอใบอนุญาต ในการก่ออสร้างขยายโรงเรือนเลี้ยงหมู ซึ่งตัวแทนช่วบ้านได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใหญ่บ้านคนดังกล่าวซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีอยู่
สำหรับวันนี้กลุ่มชาวบ้านจึงได้ดำเนินการร่วมตัวกัน เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เพื่อขอความเมตตาและความเป็นธรรมในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้าน ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยขอให้ทางจังหวัดลำพูน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง วิธีการกำจัดกลิ่นและขอให้ทางฟาร์ม ลดจำนวน การเลี้ยงสุกรและปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้ได้คุณภาพ เนื่องจากประชาชนที่อยู่อาศัยในชุมชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเข้าข่ายก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ อันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน
ด้าน นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จะนำเรื่องร้องเรียนของพี่น้องประชาชนนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนและส่งรับเรื่องร้องเรียนถึงศูนย์ดํารงธรรมจังหวัดลำพูน เพื่อให้ศูนย์ดํารงธรรมจังหวัดลำพูน ดำเนินการแห้ไขตามระบบ และภายในวันนี้จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามและสำรวจแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ได้โดยเร็ว จึงขอให้พี่น้องประชาชนวางใจในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ต่อไป