เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมด้วยผู้แทนจากสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษา ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ลงนามความร่วมมือแก้ไขปัญหานักเรียนตีกัน ในส่วนของวิทยาลัยอาชีวกุ๊กไก่ ลงโทษด้วยการให้บวชเรียน 5 วัน ประสบความสำเร็จและเป็นที่ชื่นชอบของพ่อแม่
วันที่ 16 ม.ค.65 ที่วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม เรืออากาศโท สมพร ปานคำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมด้วย พล.ต.ต.ชมชวิณ ปุรธนานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครปฐม นายอำเภอเมืองนครปฐม และผู้แทนจากสถาบันอาชีวศึกษาในจังหวัดนครปฐม รวม 14 องค์กร ลงนามความร่วมมือ แก้ไขปัญหานักเรียนต่างสถานบันก่อเหตุทะเลาะวิวาท โดยจะมีการประชุมร่วมกัน กำหนดมาตรการต่างๆ ตลอดถึงการทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกันในหลากหลายรูปแบบ ทั้งบริการสาธารณในช่วงเทศกาลวันหยุดต่างๆ กิจกรรมสาธารณในชุมชน ฝึกให้นักเรียนมีจิตอาสา เสียสละ ช่วยเหลือ บริการประชาชน และสังคม ทั้งนี้เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
นายปรัชญ์พลวีร์ ทองยินดี หัวหน้างานปกครองวิทยาลัยอาชีวศึกษา เทศบาลนครนครปฐม เปิดเผยว่า ปัญหานักเรียนต่างสถานบันก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน เกิดขึ้นมานานแล้ว เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ในครอบครัว โรงเรียน สังคม ในโรงเรียนสำคัญมาก ครูที่ปรึกษา จะต้องรู้เรื่องของลูกศิษย์ โดยเฉพาะปัญหาความเดือดร้อน สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว ปัญหาอะไรที่นำไปสู่พฤติกรรมต่างๆที่ปรากฏ พยายามเข้าไปช่วยแก้ไข สร้างตัวตนในสังคมให้เด็กเหล่านั้น พบปะและพูดคุยกันบ่อยๆ ให้เข้ารู้สึกว่าอยู่ใกล้ผู้ใหญ่ เป็นที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่อง
ในส่วนของวิทยาลัยอาชีวะศึกษาเทศบาลนครนครปฐม หรือที่คนนครปฐมเรียนว่า อาชีวะกุ๊กไก่ มีขั้นตอนการลงโทษนักเรียนที่ทำผิดตั้งแต่เบาไปหาหนัก ด้วยการตัดคะแนนกิจกรรม แต่รายไหนที่ทำผิดซ้ำบ่อยๆ ก็จะทำโทษโดยใช้กิจกรรมบูรณาการ่วมกับพระพุทธศาสนา ซึ่งประสบผลสัมฤทธิ์เป็นที่พึงพอใจทั้งพ่อแม่ ครูที่ปรึกษา และชุมชน โดยให้ไปบวชเณร ที่วัดใกล้บ้าน 5 วัน ไปอยู่วัด ไหว้พระ สวดมนต์ ช่วยพระสงฆ์ทำกิจกรรมในวัด ช่วยล้างห้องน้ำวัด หลังจากที่ได้บวชเรียน นักเรียนคนนั้นก็สงบ นิ่ง พ่อแม่ทุกคนก็ชื่นชม มีความสุข นักเรียนหลายคนลาสิขาออกมา เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ตั้งใจเรียนเพิ่มมากขึ้น ไม่ไปรวมกลุ่มกับเพื่อน ไม่กล้าที่จะไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้องอีก เลิกเรียนแล้วก็รีบกลับบ้าน