เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 15.00น. ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการคน พร้อมคณะฯ เดินทางตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน “Sandbox Safety Zone in school” และเปิดโครงการ “Step up smart box” โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ โดยมีนางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่พร้อมคณะครูอาจารย์ ให้การต้อนรับ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางเข้าห้องประชุม ชั้น 1 อาคาร 110 ปี นวมินทราบรมราชชนนี เพื่อรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน “Sandbox Safety Zone in school” จากนางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการคน กล่าวว่า ดิฉันยินดีเป็นอย่างยิ่งในวันนี้ ที่ได้รับเกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิด “โครงการ Step up Smart Box” โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จะเห็นได้ว่าแม้ในสถานการณ์สังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนยังคงต้องพัฒนาต่อไป ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำอย่างต่อเนื่องที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เฉกเช่นเดียวกับโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ที่จัดการเรียนรู้พัฒนาผู้เรียนด้านวิชาการ การฟื้นฟูสมรรถภาพและสุขอนามัย ส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำ พัฒนาผู้เรียนด้านสังคมอารมณ์ และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ขอขอบคุณเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ทำให้นักเรียนเต็มศักยภาพ อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข
“โครงการ Step up Smart Box” จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนพิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพความสามารถด้านสื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งเสริมพทักษะการเรียนรู้ Coding และการนำ IOT (Internet Of T hings) พัฒนานวัตกรรมการศึกษาพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพ ทีไม่แพ้กับผู้เรียนปกติ เป็นการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ในการใช้ชีวิตและทำงานในศตวรรษที่ 21 มีทักษะจำเป็นและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้ และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข พร้อมกันนี้เดินทางไปยังลานหญ้าเทียมชมการแสดงดนตรี ศรีสังวาลย์แบนด์ พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจแก่นักเรียน และเดินทางไปยัง ศูนย์การเรียนรู้ STEAM สู่ Smart farm เพื่อทำพิธีเปิดป้าย โครงการ Step up Smart Box
ทางด้านนางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ เผยว่า โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ได้พัฒนานักเรียนโดยใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบผ่านหลักสูตรบูรณาการหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ โดยอาศัยเทคโนโลยีการสอน การเขียน Coding บนบอร์ดควบคุม Kidsbright GOGO Bright Fablabfactory และบอร์ดควบคุม ARDUINO ROSBO เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์แรงบันตาลใจ ให้นักเรียนมีความสนุกสนานและสนใจเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยผ่านการบูรณาการความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ศิลปะ และวิศวกรรม ที่เรียกว่า STEAM Education ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างหุ่นยนต์ หรือกลไก ที่สามารถทำงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายและการเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ ทำให้นักเรียนมีโอกาสฝึกทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการนำสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์พัฒนาต่อยอดพัฒนางานอาชีพได้โดยผ่านพื้นฐานการเรียนรู้แบบ STEAM ได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ลองทำด้วยตนเอง และได้ฝึกการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะและขีดความสามารถที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น สามารถคิดและทำได้ด้วยตนเอง หากได้รับการต่อยอดอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่การสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์สนุกสนานกับการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตจริงและการทำงาน
โดยโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ได้นำนวัตกรรมการควบคุมหุ่นยนต์ที่เกิดจากการฝึกทักษะทางด้านเทคโนโลยีของนักเรียน สร้างกลุ่มเยาวชนที่มีความสามารถในการนำนวัตกรรมพัฒนาต่อยอดสู่การใช้นวัตกรรมในการแก้ปัญหา หรือเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานในชีวิตจริง ในการพัฒนาพื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรให้กับนักเรียนในระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ โดยบูรณาการทุกรายวิชาตามรอยศาสตร์พระราชาเป็นฐาน ในขณะเดียวกัน มีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงประสบการณ์ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นี้ได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว และทางด้านสติปัญญา จึงทำให้โรงเรียนและกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถ ได้ระดมความคิดร่วมกันเพื่อที่จะใช้ความรู้ความสามารถร่วมกับเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันมาประยุกตใช้ โดยได้จัดทำโมเดลต้นแบบระบบควบคุมสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ภายในฟาร์ม และพัฒนาอุปกรณ์ ระบบต่างๆ ที่นำไปใช้งานจริงในแปลงการเพาะปลูก และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถที่จะต่อยอดไปทดลองใช้จริงในพื้นที่เกษตรของโรงเรียน จนกระทั่งนักเรียนสามารถควบคุมสภาพแวดล้อม และองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ภายในฟาร์มได้ โดยที่ตัวเขาเอง ไม่ต้องไปอยู่ในฟาร์ม และนำเอาเทคโนโลยี IOT และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อการเกษตรที่มีราคาถูกลงและสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เป็นต้นแบบของระบบการทำการเกษตรสมัยใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี ICT ในการเกษตรจนเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ Steam สู่ Smart Farm.