เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่ เทศบาลตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงานมหกรรมฟื้นฟู เยียวยา ผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา “ โครงการ พม. สร้างสุข ฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ” โดยมี นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะผู้บริหารกระทรวง พม. นางสมทรง พันธุ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอบางปะอิน นางสาวสรัญญา ลีวัฒนะ นายกเทศมนตรีตำบลบางกระสั้น และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมงาน
ซึ่งนับเป็นงานครั้งแรกที่จัดขึ้นภายหลังน้ำลด เพื่อเร่งฟื้นฟู เยียวยา ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่ผ่านมา ให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตในภาวะปกติได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การมอบงบประมาณโครงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ งบประมาณโครงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ งบประมาณโครงการบ้านพอเพียง เงินสงเคราะห์ต่างๆ รถโยก รถเข็นสำหรับคนพิการ เก้าอี้พาสุข และการมอบถุงยังชีพ รวมทั้งการเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลบางกระสั้น และครัว พม. ประกอบอาหารปรุงสุกใหม่
นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถวีลแชร์ บริการตรวจสุขภาพ และการจำหน่ายสินค้าราคาถูก รวมทั้งบูธนิทรรศการและบริการต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. นอกจากนี้ยังได้มีการศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตำบลบางกระสั้น แห่งแรกของ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยเหลือมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทางสังคมประกอบด้วยเด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส สตรีผู้สูงอายุและผู้พิการ สำหรับศูนย์ช่วยเหลือสังคมเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประสบภัยทางสังคมอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยรับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1300 โดยช่วยเหลือประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครในส่วนภูมิภาคตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังปัญหาสังคมผ่านสื่อออนไลน์ พัฒนาองค์ความรู้พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์อย่างมีมาตรฐานโดยนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพรองรับการรับแจ้งเหตุและจัดเก็บข้อมูลผู้ประสบปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ
นางพัชรี กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาประสบสถานการณ์อุทกภัย ทำให้บ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตร และทรัพย์สิน ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ทั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 15 อำเภอ 153 ตำบล 902 หมู่บ้าน 66,330 ครัวเรือน โดยเทศบาลตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
ศักดริน พุทธคาวี ผู้สื่อข่าวอยุธยา