“บิ๊กจวบ “ผู้ช่วย ผบ.ตร. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2565 พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตามนโยบายรวมไทยสร้างชาติและขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งการบูรณาการความร่วมมือของส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน รวมพลังกันเพื่อทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชน มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบไป
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” โดยมีเป้าหมาย “ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างยั่งยืน ”
โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข และ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และ พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีการอบรมเครือข่ายประชาชนไปแล้ว กว่า 296,000 คน และในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้มีการอบรมเครือข่ายประชาชนที่เป็นผู้นำและผู้มีบทบาทในสังคมทุกสาขาอาชีพ จาก 1,483 สถานีตำรวจทั่วประเทศ สถานีตำรวจละ 50 คน รวม 74,463 คน ทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายประชาชนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 371,063 คน
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนที่ผ่านการอบรมแล้ว จะเป็นผู้เสนอความต้องการและสะท้อนปัญหาในทุกด้าน ได้แก่ ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความขัดแย้ง และปัญหาอื่น ๆ มายังตำรวจที่ทำหน้าที่ประสานงานเครือข่าย แล้วนำเสนอคณะกรรมการระดับสถานีตำรวจ ซึ่งมีหัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นประธาน ดำเนินการแก้ไขปัญหา หากแก้ไขปัญหาไม่ได้ ให้เสนอไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน หากยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ ให้เสนอไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นกรรมการ และหากแก้ไขปัญหาไม่ได้ คณะกรรมการจังหวัด จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา แล้วให้ตำรวจภูธรจังหวัดรายงานให้กองบัญชาการหรือตำรวจภูธรทราบ และรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรวบรวมความต้องการ และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไปยังรัฐบาล เพื่อตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนต่อไป
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ตนได้ประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามผลการปฏิบัติกับหน่วย บช.น., ภ.1 – 9 และ สถานีตำรวจ 1,483 สถานีทั่วประเทศ เพื่อรับทราบและสรุปผลการปฏิบัติประจำเดือน มีนาคม และ เมษายน 2565 โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2565 หน่วยได้รายงานปัญหาที่ประชาชนเดือนร้อน จำนวน 2,079 เรื่อง และได้ติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดให้หน่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 1,759 เรื่อง ได้แก่
1.ปัญหาด้านสังคม เช่น ยาเสพติด การแข่งรถในทาง การลักลอบเข้าเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล แหล่งอบายมุขและสถานบริการ อาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์ ฯลฯ จำนวน 1,325 เรื่อง
2.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง การว่างงาน และปัญหาหนี้สิน การขาดแคลนที่ทำกิน ฯลฯ จำนวน 64 เรื่อง
3.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การขาดแคลนแหล่งน้ำ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันโรงงานอุตสาหกรรม ภัยแล้งและอุทกภัย ฯลฯ จำนวน 248 เรื่อง
4.ปัญหาด้านความขัดแย้ง เช่น ความเห็นต่างทางการเมือง ศาสนาและเชื้อชาติ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อน การสร้างความเดือดร้อนรำคาญในรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ จำนวน 122 เรื่อง โดยมีปัญหาที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขอีก จำนวน 320 เรื่อง โดยแยกการดำเนินการของหน่วย ดังนี้ บช.น. 205 เรื่อง / ภ.1 239 เรื่อง / ภ.2 306 เรื่อง ภ.3 263 เรื่อง / ภ.4 350 เรื่อง / ภ.5 217 เรื่อง / ภ.6 168 เรื่อง / ภ.7 80 เรื่อง / ภ.8 94 เรื่อง และ ภ.9 157 เรื่อง
พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดชุมชนสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการคัดเลือกและผ่านการอบรมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายของทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ให้เพิ่มความถี่ในการลงพื้นที่เพื่อประสานงานและรับทราบสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนและประชาชน ผ่านเครือข่าย ภาคประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกและประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น พร้อมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด สำหรับสถานีตำรวจที่ยังมีผลการปฏิบัติน้อย ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับลงไปตรวจสอบ กำชับและกำกับดูแล ให้มีผลการปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อสนองนโยบายรวมไทยสร้างชาติและขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของรัฐบาลต่อไป
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จ เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ แก้ไขปัญหาความต้องการ และความเดือดร้อนของประชาชน ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ดังนั้นสถานีตำรวจและข้าราชการตำรวจทุกนาย จักต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องจริงจัง ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนและสังคม มีความเชื่อถือ เชื่อมั่น ศรัทธา ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบไป.
นิวัตร ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่ /รายงาน