ทหารเรือสกัดจับเรือบรรทุกก๊าซระหว่างประเทศ ช่วยคนงานไทยถูกกักตัวไม่ให้ขึ้นฝั่งหลังหมดสัญญาจ้าง
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่8 มีนาคมที่ผ่านมา ศรชล.ภาค 3 ได้รับการประสานจาก ศยก.ศรชล.ภาค 3 ว่าได้รับแจ้งจากนายนพดล บุญมี ลูกเรือ SCHUMI 7 ซึ่งเป็นเรือประเภทแทงเกอร์ แจ้งขอความช่วยเหลือต้องการกลับประเทศไทย แต่เรือลำดังกล่าวฯ ไม่จอดเทียบท่าให้ นานกว่า 13 เดือนแล้ว ซึ่งเจ้าตัวได้ทำสัญญาไว้แค่ 9 เดือนเท่านั้น
จากการตรวจสอบในระบบ SEA VISION และประสานข้อมูลกับศูนย์ PHUKET VTMS พบว่าเรือลำดังกล่าวฯ เมื่อเวลา 18.00 น. อยู่ทางทิศตะวันตกของ จว.ภูเก็ต ห่างจากหลักเทียบเรือ ทรภ.3 ประมาณ 20 NM ศยก.ศรชล.ภาค 3 จึงประสานให้ มว.เรือ ศรชล.ภาค 3 จัดเรือ เข้าทำการตรวจสอบและช่วยเหลือฯ จากนั้นเวลา19.00 น. มว.เรือ ศรชล.ภาค 3 สั่งการให้ ร.ล.แหลมสิงห์ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต และคณะทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงานเข้าตรวจสอบเรือลำดังกล่าวฯ และ ศยก.ศรชล.ภาค 3 ได้ทำการตรวจสอบตำบลที่เรือในระบบ Winward พบตำบลที่ของเรือลำดังกล่าวฯ กำลังเดินทางผ่านเขาหน้ายักษ์ ใกล้ฐานทัพเรือพังงา มว.เรือ ศรชล.ภาค 3 จึงได้สั่งการให้ เรือ ต.229 ซึ่งอยู่ในบัญชีกำลังของ ศรชล.ภาค 3 ซึ่งจอดรับสถานการณ์ที่ฐานทัพเรือพังงาฯ เข้าร่วมสกัดเรือลำดังกล่าวฯ โดย ร.ล.แหลมสิงห์ พร้อมชุดสหวิชาชีพ ซึ่งไล่ติดตามมาก่อนนั้น จะเดินทางเข้าสมทบ
โดยในเวลา 20.00 น. เรือ ต.229 สามารถควบคุมเรือ SCHUMI 7 บริเวณแลต 8 องศา 34.21 ลิปดา เหนือ ลอง 96 องศา 6.147 ลิปดา ตะวันออก จึงได้แจ้งเรือลำดังกล่าวฯ ให้ถือเข็มลงใต้ไปยังจุดนัดพบกับ ร.ล.แหลมสิงห์ ในเวลา 22.20 น. เรือ ต.229 ทำการส่งมอบเรือลำดังกล่าวพร้อมลูกเรือให้ ร.ล.แหลมสิงห์ ดำเนินการต่อตามขั้นตอนการตรวจสอบ โดย น.ต.กุลวิณ สุคนธมาน ผบ.ร.ล.แหลมสิงห์ ได้สั่งการให้ชุดตรวจค้นเข้าทำการควบคุมเรือ และลูกเรือทั้ง 18 คน หลังจากแจ้งเหตุผลและอำนาจที่จะทำการตรวจค้นเรือให้ กัปตันเรือรับทราบแล้ว ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองลูกเรือ โดยทำการตรวจ ATK ลูกเรือจำนวน 18 คน ผลการตรวจฯ ไม่พบผู้ติดเชื้อ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต และคณะทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงาน เข้าทำการสอบสวน ตรวจเอกสารสัญญาจ้าง และอื่น ๆ
โดยข้อมูลเบื้องต้นเรือลำดังกล่าวฯ เดินทางมาจาก จังหวัด Batam ประเทศอินโดนีเซีย โดยบรรทุกก๊าซ ไปส่งที่ประเทศบังคลาเทศ มีลูกเรือจำนวน 18 คน ทั้งหมดเป็นคนไทย และมีลูกเรือจำนวน 16 ที่หมดสัญญาจ้างมาแล้วประมาณ 1 เดือน ในจำนวนนี้ มีจำนวน 5 คน มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ ทำให้เรือดังกล่าวฯ จำเป็นจะต้องเข้าจอดที่จุดจอดเรือ ท่าเรือน้ำลึก จว.ภูเก็ต เพราะไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากลูกเรือไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ตามระเบียบความปลอดภัยในการเดินเรือสินค้า หลังจากการสอบสวน และแจ้งความผิดแล้วเสร็จ หลังจากนั้น ร.ล.แหลมสิงห์ ได้ทำการควบคุมเรือลำดังกล่าว ฯ ให้มาจอดบริเวณท่าเรือน้ำลึก เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการขอเข้าประเทศ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป