บิ๊กโจ๊ก” ลุย ตรวจเรือประมงพาณิชย์ทั้งประเทศ 10,000 ลำ วางระบบ ให้มีมาตรฐาน สร้างความมั่นใจ ประมงไทย ไร้ IUU
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 น. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง IUU เป็นประธานการประชุม การตรวจเรือประมงแบบบูรณาการ ณ ห้องประกุลาดำ ชั้น7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมงโดยมีหน่วยงานเข้าร่วมประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)
ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ที่จะออกทำการประมงต้องได้ใบอนุญาตจากกรมประมง คราวละ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 มีนาคม โดยได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา 3 ครั้งแล้ว ได้แก่ ช่วงปี 2559-2561 ช่วงปี 2561-2563 และช่วงปี 2563-2565 โดยที่ใบอนุญาตทำการประมงกำลังจะสิ้นสุดอายุลงในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เจ้าของเรือประมงพาณิชย์จึงต้องยื่นขอใบอนุญาตรอบใหม่ (2565-2567 ) ซึ่งกรมประมงจะต้องออกใบอนุญาตให้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ในการยื่นขอใบอนุญาตทำการประมงดังกล่าว ปกติกรมประมงจะดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานเครื่องมือประมงและจัดเก็บข้อมูลเรือประมงทุกลำ แต่ยังมีข้อมูลบางประการที่ต้องการความรู้ ความชำนาญ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มาร่วมเติมเต็มให้ระบบตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในการขอรับใบอนุญาตทำการประมงของเรือประมงพาณิชย์
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ จึงได้ประสานงานให้บูรณาการการตรวจเรือประมงพาณิชย์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระบบ ครบวงจร โดยกรมประมงรับผิดชอบการตรวจมาตรฐานเครื่องมือประมง กรมเจ้าท่ารับผิดชอบการตรวจอัตลักษณ์เรือประมง และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับผิดชอบการตรวจเรือประมงเพื่อให้แรงงานบนเรือประมงมีสภาพการจ้างที่สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ยิ่งไปกว่านั้น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ผช.ผบ.ตร. ยังได้จัดชุดปฏิบัติการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมการตรวจเรือประมงในครั้งนี้ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ประมงไทย ไร้ IUU อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายการตรวจเรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่ขอรับใบอนุญาตทำการประมง จำนวนกว่า 10,000 ลำ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2565 นี้ ซึ่งเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ทุกท่านสามารถนัดหมายการตรวจได้ที่ ศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) หรือสำนักงานประมงจังหวัดทุกแห่ง
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. กล่าวว่า “การบูรณาการตรวจเรือประมงทั้งระบบครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการเสริมสร้างประสิทธิภาพการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังการทำประมงของประเทศไทย เป็นอย่างยิ่ง เพราะในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการตรวจทั้งระบบเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยถูกมองจากต่างประเทศว่า มีความพยายามไม่เพียงพอในการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้เราถูกลดระดับการค้ามนุษย์จาก Tier 2 เป็น Tier 2 Watchlist และภายหลังจากที่รับข้อสั่งการจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี ผมได้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดหลายราย เช่น กรณีเรือปลอมสัญชาติ 5 ลำที่ จ.สงขลา กรณีการสวมเรือที่ จ.ชลบุรี และสมุทรสาคร กรณีสัญญาณ VMS ขาดหายที่ จ.ปัตตานี รวมถึงกรณีลูกเรือตกน้ำสูญหาย 231 คนในทุกจังหวัดชายทะเล ทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การประมงของเราไร้ IUU เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ การประมงที่ยั่งยืน จับต้องได้ในระยะเวลารวดเร็วที่สุด ผมทราบดีว่าพี่น้องชาวประมง 95 % เป็นน้ำดี มีเพียง 5% ที่เป็นน้ำเสีย แต่ทำให้ 95 % ถูกสังคมมองด้วยสายตาหวาดระแวง หน้าที่ของผม คือ แยกน้ำเสียออกจากน้ำดีให้ได้ ผมตั้งใจทำเต็มที่เพื่อให้พี่น้องน้ำดีทำมาหากินได้อย่างสบายใจ ได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเต็มที่ ทรัพยากรปลามีกินมีใช้ถึงลูกหลาน ส่วนน้ำเสียก็ต้องกำจัดออกไปให้หมด เราจะตรวจการขอใบอนุญาตประมงทั้งระบบกว่า 10,000 ลำ เพื่อสร้างมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของสากล สุดท้ายความเข้มงวดเหล่านี้ ประโยชน์จะตกสู่ชาวประมง เราไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทำเพื่อชาวประมง ทำเพื่อส่วนรวม”