อาคม เปิดงาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ปี 2565 ยิ่งใหญ่อลังการ จังหวัดอุดรมีชัย นำการแสดงศิลปวัฒนธรรมของกัมพูชามาร่วมแสดงในงานด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 9 มิ.ย. 65 ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ปี 2565” มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา, เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวศรีสะเกษ ร่วมในพิธี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.สะเกษ กล่าวรายงาน โอกาสนี้ จังหวัดอุดรมีชัย ได้นำการแสดงศิลปวัฒนธรรมของกัมพูชามาร่วมแสดงในงานด้วย
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 15,111 ไร่ เกษตรกรจำนวน 2,350 ราย มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 5,721 ไร่ ปริมาณผลผลิตปี 2565 จำนวน 7,522 ตัน โดยส่วนใหญ่เป็นทุเรียนภูเขาไฟมีการปลูกในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ ขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ ซึ่งอัตลักษณ์ของทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษนั้น เนื้อทุเรียนกรอบนอก นุ่มใน หอมละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุน เส้นใยละเอียด รสชาติมันค่อนข้างหวาน การปลูกที่ได้มาตรฐาน GAP และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ทำให้ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวอีกว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดให้เกิดการสร้างรายได้แบบครบวงจรต้นทางเป็นเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ กลางทางเป็นธุรกิจให้บริการด้านการท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และอื่นๆ ปลายทางเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดให้เกิดการยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในจังหวัดศรีสะเกษที่ดีขึ้น ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญของจังหวัด และจังหวัดศรีสะเกษได้นำทุเรียนภูเขาไฟ ศรีสะเกษจัด Road show ต่างพื้นที่ ส่งเสริมการจำหน่ายออนไลน์ ทุเรียนพร้อม นายวัฒนา กล่าว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทุเรียน เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงและตลาดโลกต้องการอยู่มาก ขบวนการผลิตจะประสบความสำเร็จได้นั้น เกษตรกรเองจะต้องใฝ่ศึกษาข้อมูลด้านวิชาการ ข้อมูลด้านการตลาด และศึกษาแนวทางจากคนที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตร เพื่อประกอบเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมของตัวเอง การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าเกษตรในทุกห่วงโซ่การผลิต ส่วนเกษตรกรสาขาอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน สามารถที่จะเลือกกิจกรรมด้านการเกษตร ให้สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ของตัวเองและความต้องการของตลาดด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้นอกจากทุเรียนภูเขาไฟที่นำมาจำหน่ายให้กับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมงานแล้ว ยังมีผลไม้ต่างๆ เช่น เงาะ, มังคุด, สะตอ ซึ่งเป็นผลไม้ที่ปลูกได้จากดินภูเขาไฟในพื้นที่ 3 อำเภอของศรีสะเกษ มาจำหน่ายอีกด้วย พร้อมทั้งยังมีผ้าทอเบญจศรี ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ มาจัดจำหน่ายให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้เลือกซื้อจับจ่ายภายในงานด้วย.
ณัฐธรชนม์ สิริโชติสกุล / ศรีสะเกษ