เมื่อวันที่ 14 มกราคม นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี นายสุชาติ อุสาหะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพชรบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ นำหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ เดินทางไปสำรวจพื้นที่เขากระทิง ต.หนองหญ้าปล้อง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เพื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดย นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเลย ทางรัฐบาลจึงให้แต่ละจังหวัดได้ค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ซึ่ง “เขากระทิง” อยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง เขากระทิงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นความธรรมชาติสูงมาก ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆทั้งสิ้น การได้มีโอกาสขึ้นมาชมจะต้องใช้เวลาเดินทาง เหมาะแก่นักท่องเที่ยวที่รักสุขภาพจะชอบมากเพราะได้ออกกำลังกายโดยปราศจากฝุ่น PM 2.5 มาร่วมเบิกทางแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ “amazing เขากระทิงหนองหญ้าปล้อง” ชื่นมื่นแมกไม้ท่ามกลางความสุนทรีย์จากดงไผ่ เดินสัมผัสธรรมชาติจากบันไดกว่าพันขั้น สูดโอโซนสูงเทียมฟ้าที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด
นายสุชาติ กล่าวว่า เขากระทิง เป็นเขาลูกโดดสูงจากระดับน้ำทะเล ที่ผ่านมาผู้บริหารท้องถิ่นได้ทำบันไดทางขึ้นได้เพียงครึ่งทางประมาณ 800 กว่าขั้น ซึ่งถ้ามีการสร้างบันไดขึ้นจนถึงด้านบน จะใช้ระยะเวลาเดินทางจากเนินเขาประมาณชั่วโมงเศษจึงจะขึ้นไปถึง เส้นทางการเดินเท้าจะต้องลัดเลาะไปตามแนวเขาต่างๆ ส่วนด้านบนเป็นพื้นที่ราบหลายสิบไร่ที่สามารถจะพัฒนาเป็นลานกางเต็นท์ สร้างห้องน้ำแยกหญิงชาย ติดระบบไฟ ก็จะสามารถเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปค้างพักแรมได้ในลักษณะเชิงอนุรักษ์ ชมวิวรอบทิศทาง ด้านบนสุดของเขากระทิงฝั่งตะวันออกติดทะเลทั้งหมดของ จ.เพชรบุรี จะเห็นทัศนียภาพตั้งแต่บ้านแหลม หาดเจ้าสำราญ หาดปึกเตียน จนถึงหาดชะอำ ช่วงเวลากลางคืนจะเห็นแสงไฟทั้งเมือง รวมถึงทิวทัศน์บนพระนครคีรี ซึ่งเชื่อว่าชาวเพชรบุรีส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ ซึ่งจะมีการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้คนขึ้นมากางเต็นท์นอน ขึ้นมาชมธรรมชาติ หรือทำกิจกรรม เช่นร่มบิน
นอกจากศึกษาพืชพันธุ์ตามธรรมชาติ สัตว์ป่า หรือมาดูนกหลากชนิดหลายสายพันธุ์แล้ว ยังสร้างงานสร้างอาชีพให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่เห็นชัดคือรายได้จากการจัดตั้งลูกหาบ เนื่องจากขาขึ้นเป็นเนินเขา เดินตัวเปล่าอาจสบายกว่า สิ่งของสัมภาระอาจจำเป็นต้องมีคนช่วย จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากหาบของขึ้นแล้วก็หาบของลง แถมยังส่งเสริมมัคคุเทศน์น้อยในพื้นที่ นำนักเรียนมาฝึกอบรมบรรยาย สร้างฐานรากการปลูกฝังให้หวงแหนรักษาทรัพยากรในพื้นที่อีกด้วย” นายสุชาติ กล่าว.
อุดมศักดิ์ นิ่มเซียน.ประจวบฯ