สตช.จับมือ กสทช. ดึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือ กสทช. ดึงผู้ประกอบการ เครือข่ายโทรศัพท์ร่วมมือแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และหลอกลวงทางออนไลน์

วันนี้ 15 ก.พ.65 เวลา 15.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ(ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช., พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ฯ, พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม./หน.ชุดปฏิบัติการ PCT ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น AIS DTAC TRUE บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ 3BB

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าวว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการมายัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ในเรื่องการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมทางออนไลน์ โดยในที่ประชุมมีการหารือความร่วมมือ ดังต่อไปนี้

1.การขอความร่วมมือให้สำนักงาน กสทช.และผู้ให้บริการ แจ้งประชาสัมพันธ์/ส่งข้อความเตือนภัย ให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวน 14 รูปแบบ ได้แก่ (1)หลอกขายของออนไลน์ (2) คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ข่มขู่ให้เกิดความกลัว (3) เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยโหด (4)เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) (5)หลอกให้ลงทุนต่างๆ (6)หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ (7) ใช้ภาพปลอมหลอกให้หลงรักแล้วโอนเงิน (Romance scam) หรือ หลอกให้ลงทุน (Hybrid scam) (8)ส่งลิงค์ปลอมเพื่อหลอกแฮ็กเอาข้อมูลส่วนตัว (9) อ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว (10) ปลอม Line , Facebook หรือ Account หลอกยืมเงิน (11) ข่าวปลอม (Fake news) – ชัวร์ก่อนแชร์ (12) หลอกลวงเอาภาพโป้เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์ (13) โฆษณาชวนไปทำงานต่างประเทศแล้วบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย (14) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

2.การขอความร่วมมือผู้ให้บริการ ผู้รับใบอนุญาต ในการแก้ปัญหาการหลอกลวงประชาชนโดยใช้การปลอมหมายเลขโทรศัพท์ จากการใช้เทคโนโลยี VoIP (Voice over Internet Protocol) นั้น ผู้ให้บริการต่อสาย VoIP ไปยังปลายทาง (Call Termination) ต้องตรวจสอบการโทรที่มาจากต่างประเทศ หากเบอร์ที่โทรมานั้นมีรูปแบบเป็นเบอร์โทรศัพท์บ้าน เบอร์พิเศษ 3 หลัก หรือเบอร์พิเศษ 4 หลักของประเทศไทย ให้ผู้ให้บริการดังกล่าวตัดสายเพื่อไม่ให้ส่งต่อการโทรนั้นไปยังปลายทางในประเทศไทย และกำชับผู้ให้บริการต่อสาย VoIP ไปยังปลายทาง (Call Termination)ดังกล่าว ต้องแสดงเบอร์โครงข่ายของตนเองหรือโครงข่ายที่ตนเองเช่าใช้ ที่โทรศัพท์ที่รับสายปลายทางด้วย หากพบว่ามีการโทรเข้าโดยส่งเบอร์แปลกปลอมที่ไม่ใช่เบอร์ของตนเองเข้ามาให้ตัดสายนั้นทันที ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการปลอมแปลงเบอร์โทรเข้ามา รวมทั้งให้แสดงแหล่งที่มาของข้อมูลที่มาจากต่างประเทศ ให้ชัดเจน แตกต่างจากข้อมูลภายในประเทศ เช่น มีเครื่องหมาย + หรือสัญลักษณ์เฉพาะ ที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือของประชาชน เพื่อจะได้ทราบในทันทีจะได้ไม่หลงเชื่อว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

3.การตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล/ช่องทางการส่งข้อมูล(Traffic) ที่คนร้ายใช้ในการติดต่อ เพื่อสืบสวนหาต้นต่อในการจับกุม สืบสวน และปิดกั้นช่องทางการส่งข้อมูล(Traffic) ดังกล่าวต่อไป

ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล กล่าวว่า ทางสำนักงาน กสทช. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี และได้มีความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อร่วมกันดำเนินการด้านเทคนิคเพื่อการป้องกันการใช้เทคโนโลยีของมิจฉาชีพไปสร้างความเดือนร้อนให้ประชาชน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายดังกล่าว และการให้ข้อมูลสนับสนุนการสืบสวน สอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในเรื่องประเด็นการส่งข้อความสั้นหรือ SMS และการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์

รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ผบ.ตร.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทย โดยขณะนี้พบว่ามิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกหลายรูปแบบ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรศัพท์ไปข่มขู่ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่หลอกให้โอนเงิน หลอกให้ลงทุน จึงขอให้ประชาชนอย่าไปหลงเชื่อ คิดก่อนโอน อย่าโอนไว อย่าโอนเงินให้กับคนที่ไม่รู้จัก อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลทางสื่อสังคมออนไลน์ ขอให้ตั้งสติ รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำข้อมูลมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ หรือแจ้งข้อมูลได้ที่ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือสายด่วน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1441 ตลอด 24 ชม. รวมถึงแจ้งมายังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล โทร.1111


Scroll to Top

แฉข่าวเด่น ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า