สานสัมพันธุ์การท่องเทียว จังหวัดนคราชสีมา-จังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารปางช้างแม่สา จังหวัดเชียงใหม่ นำ “ช้างพังออร์ก้า” และ “พลายขุนศึก” ต้อนรับคณะฯ พร้อมบรรยายแนวทางเรื่องการจัดการบริหาร “ปางช้างยุคใหม่” แบบ New Normal อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์จากมูลช้าง การผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวิสาหกิจชุมชนฯ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565 เวลา 08.30 น.- 13.00 น. ที่ปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมนางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา ให้การต้อนรับนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ จำนวน 47 คน ที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเที่ยวบินนกแอร์ เที่ยวปฐมฤกษ์ส่งเสริมท่องเที่ยวเชื่อมโยง จ.นครราชสีมากับ จ.เชียงใหม่ โดยมีช้างน้อยในปางช้างแม่สา “ช้างพังออร์ก้า” และ “พลายขุนศึก” ต้อนรับคณะฯ พร้อมร่วมบันทึกภาพบริเวณด้านหน้าปางช้างแม่สา จากนั้นคณะเดินทางรับฟังการบรรยายประวัติและความเป็นมาของ “ปางช้างแม่สา” เรื่องการจัดการบริหาร “ปางช้างยุคใหม่” แบบ New Normal ภายหลังประสบปัญหาโควิด-19 ในการปรับโครงสร้างและการปรับกิจกรรม รวมทั้งเรื่องอื่นๆโดยมีนางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา คอยบรรยายให้แก่ทางคณะฯ โดยได้พาเดินชมปางช้าง พาชมทำเนียบรายชื่อช้างทั้ง 68 เชือกของปางช้างแม่สา หรือ “ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา” ซึ่งช้างของปางช้างแม่สา มีอายุตั้งแต่ 4 ปี จนถึง 86 ปี (เชือกเล็กที่สุดชื่อพังสร้อยฟ้า เชือกที่อายุมากที่สุดชื่อปู่คำหมื่น หรือพลายคำหมื่น) พร้อมนำพาคณะเดินทางคณะเดินทางเข้าไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ ภายในบริเวณปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน
นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สาปางช้างแม่สา ได้นำคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ไปเยี่ยมชมโรงผลิตปุ๋ยมูลช้างอินทรีย์ ชมการผลิตปุ๋ยมูลช้างอินทรีย์ ปุ๋ยไส้เดือน การผสมมูลช้างและเชื้อเห็ด รับฟังการบรรยายการผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างจากวิสาหกิจชุมชนฯ เช่นถ้วย จานชามจากใบไม้ กระถางจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ใบไม้ เปลือกข้าวโพด และมูลช้างแห้ง ผลิตภัณฑ์จากกระดาษมูลช้างแปรรูป ดูแปลงสาธิตการปลูกพืชอินทรีย์เพื่อใช้เลี้ยงพนักงานปางช้าง โดยมีดร.สุมิตร อธิพรหม รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานและกิจการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ บรรยายถึงการต่อยอดพัฒนาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากมูลช้าง สร้างมูลค่าเพิ่มของมูลช้าง และใบไม้ โดยให้ร่วมมือทางด้านวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจร โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะมีบทบาทในการส่งเสริมองค์ความรู้ ด้านเกษตรอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จากมูลช้าง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งได้นำตัวอย่างปุ๋ย แต่และชนิด พร้อมผลิตภัณฑ์ ต้นแบบ จากการนำดินปลูกพลังช้าง แบบดินพร้อมปลูก แบบผง และ แบบเม็ด ผสมกับเชื้อเห็ดมาสาธิต วิธีทำ และ ปรับสูตรดินปลูก สำหรับกระถางปลูกกึ่งสำเร็จรูปแบบสมาร์ทคัพอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ปางช้างแม่สา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้พัฒนามูลค่าเพิ่มจากมูลช้าง ที่นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์
นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา ได้บรรยายเสริมว่า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากมูลช้างของปางช้างแม่สา ดำเนินการมานานถึง 3 ปี เพื่อให้คุณภาพของปุ๋ยมูลช้าง เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด การนำเชื้อเห็ดผสมกับปุ๋ยมูลช้าง ถือเป็นการต่อยอด จากดินปุ๋ยมูลช้างอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งต่อไปในอนาคต จะสามารถนำรายได้มาเลี้ยงช้างในปางช้างแม่สา จำนวน 68 เชือก และ ยังเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ในการลดภาระการใช้ปุ๋ยเคมี ที่มีราคาที่สูงขึ้น ให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จากมูลช้างในการดูแลพืชผลทางการเกษตรในระยะสั้น ที่สำคัญช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย
จากนั้นทางคณะฯ ได้เดินทางไปยังเดอะช้าง “บ้านพักช้างสูงวัย” ชมการใช้เครื่องบดสับหญ้าอาหารสำหรับช้างสูงวัยที่มีฟันเหลือน้อย หรือไม่มีฟันแล้ว ลงมือผสมอาหารที่บดสับแล้วที่มีแร่ธาตุบำรุงร่างกาย เพื่อสุขภาพที่ดีของช้างสูงวัย เตรียมไปป้อนช้างสูงวัยต่อไป พร้อมรวมบันทึกภาพร่วมกันหน้าป้ายบ้านพักช้างชรา โดยได้ร่วมกันมอบเค้กผลไม้อาหารช้าง ให้แก่ช้างสูงวัยในครั้งนี้
ด้านนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การเดินทางศึกษาเรียนรู้และเข้าชมปางช้างแม่สาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อโปรโมท ให้มีการท่องเที่ยว ระหว่างทั้งสองจังหวัดคือ จ.นครราชสีมา กับ จ.เชียงใหม่ และในครั้งนี้ตนเองพร้อมคณะได้เดินทางตามโครงการเปิดสายการบินระหว่าง โคราช-เชียงใหม่ เป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์เที่ยวแรกของสายการบินนกแอร์ ที่เปิดเส้นทางเพื่อเดินทาง จากจังหวัดนครราชสี มาสู่เชียงใหม่โดยตรง เพื่อมาศึกษาดูงานที่ จังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อจัดทำแคมเปญที่จะได้ดึงดูดให้พี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ ให้เดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา ในโอกาสข้างหน้าต่อไป อีกทั้งยังได้มาศึกษาดูงานการบริหารจัดการของทางปางช้างแม่สา ในด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 3 R, การผลิตกระดาษมูลช้าง และปุ๋ยอินทรีย์ จากมูลช้าง และการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวในนา ปลูกผักกินเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำความรู้ต่างๆในการเข้ามาศึกษาดูงานในครั้งนี้ ไปเป็นแนวทางในการศึกษาพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา ต่อไปในอนาคต.
นิวัตร -ภัทร์ศิริ ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่