พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ปทุมธานี เปิดตัวพื้นที่ใหม่ จัดงานนิทรรศการหมุนเวียนพันธุกรรมสร้างชีวิต 1 – 3 เมษายนนี้
วันที่ 28 มีนาคม 2565 พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เตรียมจัดงานนิทรรศการหมุนเวียน “พันธุกรรมสร้างชีวิต” ระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. เรียนรู้พระราชกรณียกิจ และสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม พร้อมด้วยหลักสูตรการอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการ อิ่ม อร่อย ชม ช้อป สินค้าเกษตรอินทรีย์จากร้านค้าเครือข่ายและภาคีความร่วมมือจากทั่วประเทศ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด ในรูปแบบ Onsite ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดปทุมธานี และทาง Online ผ่านทาง Facebook พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ
พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า “การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการเปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ “ตลาดเศรษฐกิจพอเพียง” พื้นที่แห่งการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชปณิธาน ด้านการเกษตร และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่กว้างขวาง เหมาะสำหรับการจัดงานเพื่อรองรับพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
สำหรับการจัดนิทรรศการหมุนเวียนพันธุกรรมสร้างชีวิต เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน เพื่อสร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชน ประชาชนได้รู้จักรักและหวงแหนในพันธุกรรมท้องถิ่น ดังพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “การรักทรัพยากร คือการรักชาติ รักแผ่นดิน” เกิดแรงบันดาลใจในการรักษาไว้เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติของไทยมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมั่นคง และยั่งยืนตลอดไป”
กิจกรรมเด่นภายในงาน ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเผยแพร่พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม นิทรรศการพันธุกรรมสัตว์ท้องถิ่น และนิทรรศการเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จัดแสดง 7 ฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมพืช พันธุกรรมสัตว์ อาทิ พันธุกรรมมั่งคั่ง อาหารยั่งยืน แมลงเศรษฐกิจกู้วิกฤตโปรตีนโลก สัตว์เลี้ยงทำเงิน พืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม เป็นต้น เรียนฟรี เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ที่ตกผลึกจากประสบการณ์ของวิทยากรผู้มากความสามารถ ผ่านการอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการกว่า 10 หลักสูตร เช่น หลักสูตรกัญชา พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยอาจารย์ นพ.สมยศ กิตติมั่นคง แพทย์ประจำโรงพยาบาลบางโพ กรุงเทพฯ หลักสูตร การผลิตมูลไส้เดือนด้วยวัสดุในบ้าน โดย ผศ.ดร.วิยดา กุนทีกาญจน์ และผศ.ดร.ทรรศวรรณ ทิพยวรการกูร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หลักสูตรการเลี้ยงไก่ไข่และไก่เนื้ออินทรีย์ โดยอาจารย์อำนาจ เรียนสร้อย แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม จ.นครปฐม และหลักสูตรพรรณไม้แปลกที่ควรปลูก โดยอาจารย์วีระยุทธ ศรีเลอจันทร์ (ทอง ธรรมดา) ศูนย์เรียนรู้เพชรพิมาย จ.นครราชสีมา เป็นต้น โดยจำกัดผู้เข้าร่วมอบรม 30 คนต่อวิชา ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และรับชมบรรยากาศการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ชม ช้อปตลาดเศรษฐกิจพอเพียงพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สินค้า ผลผลิตเกษตรปลอดภัยที่คัดสรรมาให้เลือกซื้อ รวมถึงอาหารพื้นบ้านคาวหวานทั้ง 4 ภาค ที่มากด้วยคุณภาพจากผู้ผลิต ราคาเป็นกันเองกว่า 200 ร้านค้า พิเศษ ภายในงานมีการแจกพันธุกรรม “เบญจรงค์ 5 สี” ให้ประชาชนผู้มาร่วมงานกว่า 1,000 ต้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมอนุรักษ์พันธุกรรมพืชต่อไป
โดยการจัดงานในครั้งนี้ยังคงคุมเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัดผู้เข้าเยี่ยมชมงานจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม หรือมีผลตรวจ ATK โดยแสดงหลักฐานประกอบภายใน 72 ชั่วโมง พร้อมตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้งก่อนเข้าร่วมงาน และลงทะเบียนก่อนเข้าสถานที่ด้วย Application ไทยชนะหรือสมุดสำหรับลงทะเบียน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-529-2212-13, 087-359-7171 คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือ facebook / Instagram /Line ID : @wisdomkingmuseum และ Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ
ภาพ/ข่าว สมาคมนักข่าวจังหวัดปทุมธานี