เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายสืบสวน สอบสวน การเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงใหม่ กรณีที่มีผู้ร้องไปยังกกต.ว่านายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ที่ชนะเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. วันที่ 20 ธันวาคม 2563 หรือ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนจดหมาย และทำคลิปวิดีโอลงเฟชบุ๊กส่วนตัว เพื่อสนับสนุนนายพิชัย จนได้รับเลือกตั้งดังกล่าวว่า เรื่องดังกล่าว มีผู้ร้องนายพิชัย และ ส.อบจ. 21 คน กลุ่มเพื่อไทยเชียงใหม่ ที่ได้รับคะแนนสูงสุด รวม 24 คำร้อง
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้มีการถกเถียงและเหตุผลว่าเนื่องจากไม่มีระเบียบ หรือข้อห้ามไม่ให้บุคคลอื่นหาเสียงให้กับผู้สมัคร ซึ่งผู้สมัครไม่ได้ร้องขอ จึงถือว่าคำร้องคัดค้านดังกล่าวตกไป และได้ส่งมติดังกล่าวให้กับว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้มีการประชุมและได้มีมติด้วยเสียงข้างมากยกคำร้องเรื่องดังกล่าวทั้งหมดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 หรือ 2 วันที่ผ่านมา เนื่องจากนายทักษิณ ได้สนับสนุนเป็นการส่วนตัว หรือสิทธิส่วนบุคคล ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นอย่างใด ซึ่งนายพิชัย สามารถ บริหารงาน อบจ.ได้อีก 3 ปี จนครบวาระ
ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีผู้ร้องได้ระบุว่า นายทักษิณ และนายพิชัยได้หาเสียงด้วยวิธีการหลอกลวง และจูงใจผู้ลงคะแนนให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมนั้น ไม่เข้าข่ายการชี้นำ แทรกแซง หรือบังคับให้ผู้มีสิทธิไปลงคะแนนดังกล่าว แต่ผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนนดังกล่าว ด้วยความสมัครใจ ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งการยกคำร้องดังกล่าว ทาง กกต. กลาง ไม่แถลงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการอย่างใด นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และยังไม่มีหนังสือแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจะสอบถามไปยัง กกต.กลาง ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างไร เพื่อความถูกต้องและชัดเจน ก่อนเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบอย่างเป็นทางการต่อไป.