รัฐมนตรีเกษตรฯ นำทีมผู้บริหาร กษ. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานและรับฟังปัญหาของพี่น้องชาวจังหวัดพังงา เตรียมความพร้อมทั้งในภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มุ่งหวังให้จังหวัดพังงาเป็นครัวของอันดามัน
วันที่ 19 พ.ค.65 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดพังงา ได้แก่ สถานการณ์และผลการดำเนินงานภายใต้ พรบ.พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยในจังหวัดพังงา การพัฒนาแหล่งน้ำ และการดำเนินงานด้านประมง พร้อมพบปะและรับฟังปัญหาเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นาย ไตรทิพย์ สกุลประดิษฐ์ นายอำเภอตะกั่วป่า ส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน เข้าร่วม ณ สหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด หมู่ที่ 9 ต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
สำหรับกิจกรรมภายในงานได้มีการมอบสมุดเหลืองให้ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนใหม่ มอบต้นกระท่อมให้กับตัวแทนเกษตรกร มอบเวชภัณฑ์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ (จำนวน 60 ชุด) ให้กับผู้แทนกลุ่มเกษตรกร จำนวน 4 ราย มอบพันธุ์กุ้งก้ามกราม ขนาด 5 – 7 เซนติเมตร จำนวน 100,000 ตัว ให้กับตัวแทนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตอำเภอกะปง อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จำนวน 50 ราย รายละ 2,000 ตัว มอบพันธุ์ปลาตะเพียน ขนาด 3 – 5 เซนติเมตร จำนวน 200,000 ตัว และพันธุ์ปลาสุลต่าน ขนาด 3 – 5 เซนติเมตร จำนวน 50,000 ตัว ให้กับตัวแทนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในเขตอำเภอกะปง อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จำนวน 50 ราย รายละ 5,000 ตัว มอบพันธุ์กุ้งก้ามกราม ขนาด 5 – 7 เซนติเมตร จำนวน 50,000 ตัว เพื่อนำไปปล่อยให้กับผู้นำชุมชนอำเภอกะปง จำนวน 3 ชุมชน และผู้นำชุมชนอำเภอคุระบุรี จำนวน 3 ชุมชน และมอบพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ขนาด 3 – 5 เซนติเมตร จำนวน 150,000 ตัว เพื่อนำไปปล่อยให้กับผู้นำชุมชนอำเภอตะกั่วป่า จำนวน 1 ชุมชน ผู้นำชุมชนอำเภอกะปง จำนวน 3 ชุมชน และผู้นำชุมชนอำเภอคุระบุรี
ทั้งนี้ จังหวัดพังงามีการปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัด มีพื้นที่สวนยางทั้งหมด 678,564 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 138,073 ตัน/ปี ปัจจุบันการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางใหม่และปรับปรุงทะเบียนเดิม เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินสวนยาง ได้รับสิทธิตาม พรบ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ตามประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย อย่างทั่วถึง โดยได้จัดทำสมุดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (สมุดเหลือง) มอบให้ประจำตัวเกษตรกรชาวสวนยางทุกราย ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นทะเบียนกับ กยท. แล้ว 21,506 ราย เนื้อที่ 346,552 ไร่ และคนกรีดยาง จำนวน 2,698 ราย เป็นเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ 18,058 ราย เนื้อที่ 287,728 ไร่ เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 2,851 ราย เนื้อที่ 42,236 ไร่ และเป็นเกษตรกรที่ถือครองทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 597 ราย เนื้อที่ 16,588 ไร่
นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดพังงา ได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในโครงการส่งเสริมการทำสวนยางพาราในรูปแบบแปลงใหญ่ จำนวน 8 แปลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – 2565 อีกทั้งยังส่งเสริม สนับสนุน ให้การปลูกแทน ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย มาตรา 49(2) ด้วยยางพันธุ์ดี ไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการปลูกสร้างสวนยางอย่างยั่งยืน เน้นการปลูกสร้างสวนยางแบบผสมผสาน เพื่อเพิ่มรายได้จากผลผลิตอื่นนอกจากยางพารา ตามเป้าหมายปีงบประมาณ 2565 จำนวน 5,900 ไร่
ในส่วนของกรมชลประทาน ได้พัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานในพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค การเกษตร และการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของจังหวัด รวม 166 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 60,960 ไร่ แบ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก 151 โครงการ โครงการพระราชดำริ ได้แก่ ฝายทดน้ำ 7 แห่ง อาคารอัดน้ำอีก 3 แห่ง และโครงการชลประทานขนาดกลาง เป็นฝายทดน้ำอีก 5 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้มีโครงการการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำทั้งที่กำลังปรับปรุงและปรับปรุงแล้วเสร็จหลายโครงการ รวมถึงมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมระหว่างปี 2566 – 2570 ด้วย
ในส่วนของการดำเนินงานด้านประมง จังหวัดพังงา มีกิจกรรมการดำเนินงาน ทั้งการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคืนถิ่น กิจกรรมการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำเค็ม และการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ ที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชายฝั่ง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน การแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล และ Fisherman Shop และ Fisherman Marker เป็นต้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มุ่งหวังให้จังหวัดพังงาเป็นครัวของอันดามัน ยืนยันพร้อมแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวพังงาอย่างเต็มความสามารถ” ดร.เฉลิมชัย กล่าว