กลุ่มเล่นว่าวหลายจังหวัด นำว่าวมาแข่งขันบริเวณทุ่งกว้าง หน้าวัดช่องลม เขตรอยต่อระหว่าง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อสืบสานอนุรักษ์ว่าวไทยโบราณให้คงอยู่
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา ช่วงเดือน 4 ถึงเดือน 5 ของทุกปี จะมีการแข่งขันว่าวไทยโบราณ เป็นว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า ที่มีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน มีบางช่วงที่เริ่มจะเลือนหายไปแล้ว แต่ยังคงมีบางท้องถิ่นที่ยังคงร่วมกันสืบสานอนุรักษ์ไว้ และร่วมกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมการทำว่าวไทยมาถึงทุกวันนี้ จนกลายเป็นประเพณีการแข่งขันว่าวไทยที่หลายจังหวัดได้ให้ความสำคัญ พอถึงช่วงหลังเกี่ยวข้าวเสร็จและย่างเข้าสู่ช่วงเดือน 4 ถึงเดือน 5 ซึ่งเป็นลมว่าวที่มีชาวบ้านนำว่าวที่ทำไว้หลายรูปแบบออกมาชักเล่นกันตามท้องทุ่งนา และสนามที่ค่อนข้างกว้างกันอย่างสนุกสนาน
อย่างที่บริเวณทุ่งกว้าง หน้าวัดช่องลม เขตรอยต่อระหว่าง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นอีกสนามหนึ่งที่มีชาวบ้านจาก จ.ราชบุรี จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม จ.นครปฐม และกรุงเทพฯ ทั้งผู้สูงอายุ วัยรุ่น หนุ่มสาวรวมกลุ่มกัน นำว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า และว่าวอื่น ๆ ใส่รถมาเข้าร่วมแข่งขันกันอย่างคึกคัก กลายเป็นประเพณีแข่งขันว่าวไทยเป็นประจำทุกปี หวังที่จะช่วยกันอนุรักษ์กีฬาว่าวไทยให้คงอยู่ไปชั่วลูกหลานให้ยาวนานที่สุด ในการแข่งขันนั้นสิ่งสำคัญ คือต้องดูทิศทางลมว่ามาจากทิศไหน จึงสามารถนำว่าวขึ้นเล่นทะยานบนท้องฟ้า เล่นต่อสู้กันนำไปสู่ชัยชนะจ้าวแห่งเวหาได้ในแต่ละประเภทได้ การขึ้นว่าวบางตัว ขึ้นไม่ดีสายพันกันตกลงมาหัวทิ่มพื้นก็มี อยู่ชั้นเชิงในการเล่น
ร.ต.ท.ธีระ คงแสงบุตร ผู้จัดการแข่งขัน กล่าวถึงการเล่นว่าวว่า การทำว่าวไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่าจะวัดการแพ้หรือชนะกันบนท้องฟ้า อยู่ที่จังหวะลมเป็นตัวกำหนด การแข่งว่าวเล่นว่าวมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด มีสูงส่ายสวย และว่าวสวย และมีอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าลมวันนั้นเป็นใจดี ก็จะมีการต่อสู้ว่าวจุฬากับว่าวปักเป้าเหมือนกับที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ การจัดงานครั้งนี้ได้รับการอุปถัมภ์ จากสมาคมกีฬาไทยแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
นายพนัส เทียนศิริ ( เม่น มหาชัย ) ผู้เชียวชาญด้านการทำว่าวแห่งมหาชัย จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การจัดงาน จะมีค่าใช้จ่ายทุกคนที่มาแข่งขันจะมีรางวัลให้ ชนะเลิศที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 การแข่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ ว่าวสวยงาม และว่าวคว้า ส่วนวันนี้การแข่งขันว่าวคว้าต้องงดเล่นเพราะมีลมน้อยเล่นไม่ได้ ซึ่งกติกาคือ ขึ้นสูงส่ายสวยเป็นจุดสำคัญที่สุดโดยมีลมเป็นตัวกำหนดการเล่น การเล่นว่าวในปัจจุบันยังคงมีบางแห่งที่ยังคงเล่นอนุรักษ์อยู่ เช่น จ.นครปฐม เน้นว่าวสวยงาม จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกรุงเทพฯจะเน้นว่าวคว้า เพราะมีความมันจากการแข่งขันคว้ากันกลางอากาศเหมือนกับแข่งที่สนามหลวง ความหมายคำว่า “ คว้า ” คือ จุฬาอยู่ด้านเหนือลม ปักเป้าอยู่ด้านใต้ลม และการคว้าทางจุฬาจากข้างบนลงมาคว้าปักเป้าในเขตแดน แล้วดึงเข้าว่าวจุฬา มีกติกาอยู่หลายข้อที่มีผลแพ้ชนะกัน สมัยก่อนเคยแข่งขันที่ท้องสนามหลวง แต่ปัจจุบันมีหลายท้องที่การแข่งขันยาวนานับร้อยปีมาแล้ว
สมัยนี้เด็กจะยึดติดโทรศัพท์มือถือกันมาก เมื่อวัฒนธรรมที่เคยทำมาก่อน แต่ถูกหลงลืมไปจากที่เคยเล่นว่าวกันมาเมื่อหลายสิบปี แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทำให้เด็กค้นคว้าหาสิ่งแปลกใหม่ในโทรศัพท์ บางคนมีกิริยาก้าวร้าว โดยกีฬาว่าวเป็นกีฬาที่สร้างสันทนาการดึงเด็กออกมาได้ ซึ่งได้พยายามทำอยู่ทุกชุมชนทั่วประเทศที่เราได้แข่งขันว่าวในพื้นที่ โดยจะดึงเด็กให้ออกมาจากพื้นที่กรอบสี่เหลี่ยม โดยพยายามเก็บว่าวจากการแข่งขันแล้วนำไปแจกตามห้องสมุดโรงเรียนต่าง ๆ สามารถขอมาได้ อยากให้เด็กได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับว่าว ซึ่งถือว่าเป็นมรดกของไทยโบราณ โรงเรียนไหนสนใจอยากได้ว่าวให้ติดต่อมาจะนำไปมอบให้ เบอร์ 095-4686382