ศรีสุวรรณ ร้องยุติธรรม ตรวจสอบสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ศรีสุวรรณ ร้องกระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบการทำงานสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่รับเรื่องตรวจตราประทับในสัญญาซื้อขายนานนับปี สุดท้ายไม่สามารถยืนยันผบตรวจได้

เมื่อเวลา 10.00 น. ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  พร้อม นางชญานันทน์ นิธิศเรืองชัย อายุ 52 ปี  ผู้เสียหายนำเอกสารการซื้อขายคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ที่มีปัญหาพิพาทกับผู้ขายคอนโด เข้ายื่นขอความเป็นธรรมกับกระทรวงยุติธรรม หลังเคยนำเอกสารซื้อขายนี้ไปยื่นให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบเอกสารสัญญาว่ามีการดัดแปลงข้อความหรือไม่ เพื่อไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล แต่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์กลับใช้เวลาตรวจตราประทับที่อยู่ในเอกสาร ว่ามีการประทับก่อนหรือหลังการเขียนข้อความนานกว่า 8 เดือน ก่อนจะบอกว่าไม่สามารถสรุปผลได้ จึงมองว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ล่าช้า และต้องการให้กระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเอกสารในครั้งนี้

นางชญานันทน์ ผู้เสียหายเล่าว่า ตนเองได้ตกลงซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือคอนโดมิเนียมจากคู่กรณี ในราคา 55 ล้านบาท และมีการทำหนังสือสัญญากัน แต่ก่อนจะลงนามได้มีการเพิ่มเงื่อนไขว่าผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมและอากรต่างๆ โดยใช้ปากกาคนละด้าม ซึ่งตนเองไม่ได้รู้สึกเอะใจอะไร และมีการประทับตราลงนามตามปกติ มีสามีของตนเองลงนามเป็นพยาน รวมถึงมีการจ่ายเงินให้คู่กรณีครบทั้ง 55 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นที่ดินและคอนโดมิเนียมก็โอนไปเป็นชื่อของนายทุนที่ตนเองไว้ใจให้รับโอนแทน แต่จู่ๆ คู่กรณีที่ขายคอนโดมิเนียมดังกล่าวกลับไปแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับตนเอง โดยอ้างว่าสัญญาดังกล่าวมีการปลอมแปลง ต่อเติมข้อความ และผู้ขายก็ไม่เคยลงนามหรือประทับตรารับรองข้อความดังกล่าว ตนเองจึงต้องนำหนังสือสัญญาตัวจริงไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบว่าข้อความเรื่องการรับผิดชอบค่าธรรมเนียมและอากร เขียนขึ้นก่อนหรือหลังประทับตรา

แต่ก็พบความผิดปกติตั้งแต่เริ่ม ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ขอให้แจ้งมูลค่าทรัพย์สินตามสัญญา เพื่อนำไปคิดค่าธรรมเนียม ซึ่งตามปกติคดีอาญา มีค่าธรรมเนียมการตรวจประเด็นละเพียง 10,000 บาทเท่านั้น โดยเมื่อตนเองโต้แย้งไป สุดท้ายสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ยอมตรวจให้ แต่ใช้เวลานานกว่า 8 เดือน แต่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าตราประทับเกิดขึ้นก่อนหรือหลังข้อความ ซึ่งถ้าสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่สามารถคัดแยกหมึกตราประทับ กับหมึกปากกาออกจากกันและพิสูจน์ว่าอย่างใดเขียนขึ้นก่อน ประชาชนจะไปพึ่งหน่วยงานใดที่จะมาตรวจสอบให้ได้ ส่วนตัวเชื่อว่าอาจมีการแทรกแซงการตรวจจากผู้ที่มีผลประโยชน์กับการซื้อขายดังกล่าว ทำให้เกิดความล่าช้า และยังเชื่อว่าเป็นการร่วมมือกันกลั่นแกล้งให้ตนเองได้รับโทษทางอาญา

ด้านนายศรีสุวรรณ ยังเปิดเผยอีกว่า นายทุนที่ผู้เสียหายยืมเงินไปลงทุนซื้อที่ดินและคอนโดมิเนียมดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับผู้พิพากษาศาลแห่งหนึ่ง และอาจเป็นข้อพิรุธที่ทำให้เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่กล้าตัดสินใจสรุปผลการตรวจรอยตราประทับ

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมได้รับเรื่องร้องไว้ และจะเสนอผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป


Scroll to Top

แฉข่าวเด่น ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า