ผู้ว่าฯ เอาจริงสั่งตั้งคณะกรรม ตรวจสอบขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ ตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะ หลังจากคนตำบลบ้านกร่างนับร้อยคนฮือบุกศาลากลาง ระบุว่า ไม่โปร่งใส
วันนี้ 26 เมษายน 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคนบ้านกร่างลุกฮือ บุกศากลางจังหวัดนับร้อยคน ระบุว่า อบต.บ้านกร่าง ผุดโปรเจ็กต์ สร้างโรงไฟฟ้าขยะ มูลค่า 1,800 ล้าน 9.9 เมกะวัตต์ ลักษณะไม่โปร่งใส งุบงิบ ลักไก่ทำประชาคม ทั้งๆคนชาวบ้านกร่างมีจำนวนมากถึง 10 หมู่บ้าน โดยตำแหน่งที่จะตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะ มีประชากร 6 หมู่บ้าน หรือเกือบ 6,695 คนที่อาจได้รับผลกระทบ แต่กลับทำแบบสอบถามจริงๆเพียง 453 คนเท่านั้น อีกทั้งขั้นตอนแจ้งข่าวการทำประชาคมก็รวดเร็ว ส่อไม่โปร่งใส กลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่างจึงขอคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานขยะ เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ พิจารณายับยั้งโครงการดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีก จนกว่าการดำเนินการจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนถูกต้องโปร่งใส ตามขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ โดยนายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รับเรื่องวานนี้ (25 เมษายน 65) พร้อมเตรียมจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจะนัดขอฟังคำตอบใน 15 วัน
ล่าสุดวันนี้ นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผย ในงานแถลงข่าวประจำเดือนเมษายน 65 ที่โรงแรมวังจันทน์รีเวอร์วิวว่า กลุ่มคนบ้านกร่างมาศาลาจังหวัดฯ เหตุจะตั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะว่า ตนได้รับเรื่องแล้ว กำลังจะลงไปตรวจสอบดูว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ระเบียบของสำนักนายกฯหรือไม่
ในส่วนขั้นตอนหรือกระบวนการขออนุญาตการตั้งโรงไฟฟ้านั้น เอกชนได้ยื่นเรื่อง ผ่านคณะกรรมการของจังหวัดเพื่อพิจารณาเบื้องต้นแล้ว หากประชาชน บอกไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส ก็พร้อมจะตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบ หรืออาจให้ท้องถิ่นจังหวัดลงไปตรวจสอบอีกครั้งว่า ระหว่างเอกสารที่บริษัทเอกชนยื่นมาและคณะกรรมยื่นไปกระทรวงมหาดไทยไปแล้วนั้น กับประชาชน(คนบ้านกร่าง) ที่ร้องเรียนว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร ไม่นานก็จะทราบผล
ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น “ขยะ”จะต้องจัดการ คือ ลดปริมาณลง จากนั้น จะต้องมีสถานที่กักเก็บ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพิษณุโลกใช้วิธีฝังกลบ อย่างไรก็ตาม สักวันหนึ่งบ่อขยะ จะต้องเต็ม ฉะนั้นจะต้องมีวิธีที่ดีกว่า ซึ่งเวลานี้ คือ การนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพียงแต่จะต้องเดินตามขั้นตอนให้ถูกต้องอย่างไรเท่านั้น
เพราะปัจจุบันมีกรรมวิธี คัดแยกขยะให้ดีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แยกขยะเปียกขยะแห้งออกจากกัน ป้องกันไม่ให้ขยะเกิดกลิ่น หากผุดโรงไฟฟ้าจากขยะจริงๆ บริษัทเอกชนจะต้องไปร่วมมือกับประชาชน ลักษณะเช็นต์ข้อตกลงหรือเอ็มโอยูเสียก่อน ยังต้องใช้เวลาและขั้นตอนอีกเยอะ
สุพิณ พิโลก