เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วิทยาเขตหัวหิน-ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรในโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงปีที่ 5 Unleash Your Potential No. 5 ให้กับครูจำนวน 57 คนในเขต อ.หัวหิน-ชะอำ โดยมีโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองหัวหิน ได้แก่ โรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหิน โรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า โรงเรียนเทศบาลบ้านบ่อฝ้าย โรงเรียนเทศบาลบ้านสมอโพรง โรงเรียนเทศบาลบ้านเขาพิทักษ์ โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแก โรงเรียนเทศบาลบ้านตะเกียบ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสมอโพรง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตะเกียบ รวมทั้งโรงเรียนเทศบาล 9 บ้านสามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มี นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน มิสเตอร์เซล ดิลอน ผู้อำนวยการบริหาร มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วิทยาเขตหัวหิน-ชะอำ เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตร นางนภาวรรณ จันทร์เดือน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกำกับดูแลและความสัมพันธ์ภาครัฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บำเพ็ญ ไมตรีโสภณ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์และสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วิทยาเขตหัวหิน-ชะอำ และคณะผู้บริหารฯให้การต้อนรับ
จากที่มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จัดทำโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอนให้แก่ครูผู้สอนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพนักเรียนและการสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ภายในโรงเรียน ภายใต้โครงการทื่ชื่อว่า Unleash Your Potential ปัจจุบันเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน มีครูเข้าร่วมโครงการจาก 3 จังหวัดคือ ประจวบฯ-เพชรบุรี และราชบุรี ซึ่งใน 4 ปีที่ผ่านมาคุณครูได้เข้าร่วมโครงการ ผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆอาทิโครงการพัฒนาทักษะการสอนภาษาอังกฤษ โครงการ Think Factory ปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้สื่อการสอน การพัฒนาวิธีการสอนแบบ Research based การพัฒนาการสอนโดยใช้ Active Learning เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน การใช้โปรแกรม PhET ในการสร้างสื่อการสอน การใช้ Jeopardy Games เป็นต้น ซึ่งผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรมและร่วมกิจกรรมมีผลดีขึ้นในทุก ๆปี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บำเพ็ญ กล่าวว่าปีนี้มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดได้สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันและมีแนวทางการดำเนินงานที่สามารถก้าวไปสู่การบรูณาการกิจกรรมระหว่างโรงเรียนเพื่อให้เป็นการก้าวไปอีกขั้นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โครงการเครือข่ายโรงเรียนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นการต่อยอดความร่วมมือจากการพัฒนาครูเพื่อพัฒนาทักษะการสอนสู่การบูรณาการความรู้และจุดเด่นของโรงเรียนแต่ละโรงเรียนในเครือข่ายความร่วมมือมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์โรงเรียน จากนั้นนำไปสอนให้นักเรียนได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นให้นักเรียนได้มีส่วนรวมโดยตรงและเป็นการบูรณาการความรู้ในหลายวิชา ในกลุ่มหลักสูตรการงานและพื้นฐานอาชีพในเด็กประถม และการนำจุดเด่นของโรงเรียนแต่ละโรงเรียนมาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มโรงเรียนโดยการดำเนินงานมุ่งเน้นแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ล้นเกล้า รัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยยึดหลัก ความพอประมาณ คือทำงานที่พอดีไม่น้อยเกินไปไม่มากเกินไปตามบริบทของโรงเรียน ครูและ นักเรียน ความมีเหตุผล หมายถึงในการตัดสินใจดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล
จากแนวคิดดังกล่าว โครงการเครือข่ายโรงเรียนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงเกิดขึ้น โดยมีความมุ่งหวังจะให้โรงเรียนในเครือข่าย ได้นำผลิตภัณฑ์ ที่มีอยู่ในโรงเรียนในปัจจุบัน เช่น การเลี้ยงไก่ไข่ของนักเรียน การปลูกผักสวนครัว ขนมคุ๊กกี้ในโรงเรียน การปลูกสับปะรด มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในโรงเรียนเดิมมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆให้แก่โรงเรียนอีกด้วย ในวันนี้จะทำการมอบประกาศนียบัตรให้กับคุณครูจาก อ.หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ก่อน และจะมีการทำ Workshop ครั้งสุดท้ายโดย เชฟมืออาชีพ จากหลักสูตรการจัดการโรงแรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด สอนทำอาหารสุขภาพโดยใช้วัตถุดิบในโรงเรียน จากนั้นจะนำผลิตภัณฑ์ที่ทำในวันนี้ไปบริจาคให้บุคลากรทางการแพทย์ รพ.ชะอำ ต่อไป
นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ได้กล่าวชื่นชมแสดงความขอบคุณมหาวิทยาลัยฯที่จัดทำโครงการที่ดีมีคุณค่าเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าปีนี้เราจะเจอปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รูปแบบการฝึกอบรมต้องผสมผสานเป็นทั้งแบบออนไลน์ จนมาถึงแบบออนไซต์ในวันนี้ ผมก็ขอชื่นชมมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ที่ยังทุ่มเทจัดทำโครงการดีๆ อย่างยั่งยืนต่อเนื่องมาอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะปีนี้ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดได้สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความรู้ แนวคิด วิธีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ด้วยตนเอง นับว่าครบถ้วนสมบูรณ์แบบเป็นอย่างยิ่งและอยากให้มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด จัดโครงการเช่นนี้ต่อไป
นายอนันต์ สีบัว รอง ผอ.โรงเรียนเทศบาลบ้านบ่อฝ้าย กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก เป็นหลักสูตรต่อยอดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นแนวคิดเบื้องต้นว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วนำไปสู่การตลาดที่ทำได้ด้วยตัวเองสามารถต่อยอดได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นถือว่าเป็นคอร์สที่ดีมากๆ แล้วเป็นการนำความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ที่คุณครูสามารถจะคิดขึ้นมาได้ของแต่ละโรงเรียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่โรงเรียนจะสามารถสร้างขึ้นมาแล้วก็พัฒนาต่อยอดขายได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพากลไกการตลาด.
อุดมศักดิ์ นิ่มเซียน.ประจวบฯ