ผบ.ตร.นำมวลชนปลูกจิตสำนึก “เฉลิมพระเกียรติ” จิตอาสารักษ์ป่าชายเลนหาดท่าหลา ภูเก็ต
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ที่บริเวณ ป่าชายเลนหาดท่าเฉลิมพระเกียรติ หมู่ 2 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ประธานในพิธี พร้อมด้วย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะนายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในโครงการ “จิตอาสารักษ์ป่าชายเลนหาดท่าหลาเฉลิมพระเกียรติ” เพื่อระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยภายในงานมี ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคีเครือข่ายเอกชน ข้าราชการ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนจิตอาสา รวมกันกว่า 3,000 คน เข้าร่วม
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมจิตอาสารักษ์ป่าชายเลนหาดท่าหลาเฉลิมพระเกียรติ ทางสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สมาคมชาวภูเก็ต ได้ร่วมกันจัดโครงการดังกล่าวเพื่อระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ตามพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชกรณียกิจของพระราชบิดา ผสานร่วมกับแนวคิดเรื่องจิตอาสา ทั้งยังเป็นการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความคิดริเริ่มมาจากจิตสำนึกที่ดีที่ต้องการจะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ผสานกับหลักคิดที่ว่า เราทำความดีด้วยหัวใจ ถือเป็นโครงการที่มีหลายภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อที่จะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและประเทศชาติ ทำให้พื้นที่ป่าในบริเวณป่าชายเลนหาดท่าหลาเฉลิมพระเกียรติมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติให้แก่ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้ภายในงานได้จัดให้มีกิจกรรมปลูกต้นไม้จำนวน 2,500 ต้น มีการเก็บขยะมูลฝอยและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ บนพื้นที่ ป่าชายเลนหาดท่าหลาเฉลิมพระเกียรติ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นป่าธรรมชาติ
ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยังกล่าวอีกว่า ป่าชายเลนในพื้นที่ภาคใต้ มีแนวป่าชายเลนเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝั่งของประเทศ ได้แก่ ฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่จันทบุรีไปถึงปัตตานี มีความยาวของพื้นที่ประมาณ 2,000 กิโลเมตร และฝั่งอันดามันจากระนองถึงสตูล มีความยาวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร คุณค่าของป่าชายเลนไทย ไม่เพียงเป็นบ้านขนาดใหญ่สำหรับอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่งเท่านั้น แต่ยังเป็นโรงครัวที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นกำแพงกันภัยธรรมชาติให้แก่ คนชายฝั่ง แต่ในอดีตป่าชายเลนไทยได้ถูกรุกรานอย่างหนักเพื่อประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนพื้นที่ป่าหายไปกว่าครึ่ง จึงอยากให้มีการอนุรักษ์อย่างจริงจังเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานสืบไป