“คชาภัณฑ์”ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้าง อีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกร ปางช้างแม่สา ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ผลิตจำหน่ายหารายได้ช่วยช้าง 68 เชือก ผลงานวิจัย ม.แม่โจ้ ให้การสนับสนุน
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2565 เวลา 13.30 น. ที่ปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ อ่องศิริกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้ ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และนายวีระชัย ไชยมงคล กำนันโหน่ง กำนันตำบลป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และนายมานะ ไทยนุรักษ์ ผู้หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าดอยตุง แนะนำการเลี้ยงไส้เดือนในมูลช้าง ที่มาผสมตามสูตรต่างๆเพื่อทำปุ๋ยมูลช้าง พร้อมได้พาคณะฯ ชมการทำปุ๋ยจากมูลช้าง และผลิตภัณฑ์จากใบไม้ ฯลฯ
นางอัญชลี ผู้บริหารปางช้างแม่สา กล่าวว่า “ช้าง” ยังคงได้รับผลกระทบอย่างยาวนานจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะแหล่งเลี้ยงช้างขนาดใหญ่อย่างปางช้างแม่สา ซึ่งมีช้างเลี้ยงอยู่เป็นจำนวนมากถึง 68 เชือก และมีคนเลี้ยงช้างอีกร้อยกว่าชีวิต เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ปางช้างก็ไม่มีรายได้เข้ามาเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนหลายล้านบาท ตลอดเวลาที่ผ่านมาช้างของปางช้างแม่สา ถูกเลี้ยงอย่างเป็นระบบด้วยหญ้าเนเปียจำนวนมากถึงวันละ 10 ตัน และยังกินผลไม้ จำพวก กล้วย อ้อย สมุนไพรต่างๆ โดยช้างแต่ละเชือกจะบริโภคอาหารคิดเป็น 10%ของน้ำหนักตัว เช่น ช้างที่มีน้ำหนักตัว 2,000 กิโลกรัม ควรบริโภคอาหารจำนวน 200 กิโลกรัม ทำให้ปางช้างมีมูลช้างที่ต้องจัดเก็บเป็นขยะเปียกถึงวันละ 50% หรือวันละประมาณ 5 ตัน และยังมีเศษหญ้าเหลือทิ้งอีกจำนวนหนึ่ง การจัดเก็บมูลช้าง พนักงานจะนำใส่หลุมรวมกันไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือนำเข้าสู่โรงผลิตปุ๋ยมูลช้างอินทรีย์ของปางช้าง ซึ่งกระบวนการอย่างหลังจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการจัดการนำของเสียอย่างมูลช้างให้กลับกลายมาเป็นของดี เป็นปุ๋ยอินทรีย์ 100%
โดย “มูลช้าง” จะถูกนำมาหมัก ไว้ในโรงผลิตปุ๋ย และเติมจุลินทรีย์ หรือน้ำหมักเพื่อให้ย่อยสลายได้เร็วขึ้น จากนั้นจึงทำการผสมกับแกลบ รำ หรืออื่นๆ เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์สูตรต่างๆที่เหมาะกับพืชผัก หรือไม้ดอก ไม้ผล ตามแต่ความต้องการของกลุ่มเกษตรกร ในขณะที่ราคาปุ๋ยเคมี ณ ปัจจุบันใกล้แตะกระสอบละ 2,000 บาท แต่ประเทศไทยยังมีแหล่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปีหนึ่งผลิตได้นับหมื่นตัน คือปุ๋ยที่ได้จากมูลช้างนั่นเอง ในเมื่อช้างเป็นสัตว์กินพืช ทำให้เราสามารถเก็บมูลช้างนั้นมาผลิตปุ๋ยได้ 100 กิโลกรัมต่อวันต่อเชือก ปุ๋ยมูลช้างที่บ่มหมักในปางช้างนานนับปี เป็นแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารหลัก อาหารรองครบถ้วนและปลอดภัยที่สุด ปราศจากสารเคมีและสารตกค้างต่างๆ ใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ 100% มีราคาถูก เหมาะกับพืชสวนทุกชนิด โดยเฉพาะพืชตระกูลกัญฯ ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผักสวนครัว ปุ๋ยมูลช้าง “คชาภัณฑ์” ซึ่งผลิตขึ้นที่ปางช้างแม่สา จึงนับเป็นอีกทางเลือกสำหรับเกษตรกร ที่ต้องการลดต้นทุน อยากเพิ่มผลผลิต และยังช่วยสร้างรายได้ในการดูแลอนุรักษ์ช้างไทย ช่วยเหลือคนเลี้ยงช้างให้สามารถอยู่ได้ต่อไป
เตรียมพบกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ และปุ๋ยพลังช้าง “คชาภัณฑ์” ที่วิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่าง ปางช้างแม่สา หรือศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา จังหวัดเชียงใหม่ กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และวิสาหกิจชุมชน สร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้ บ้านซาง ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม ทั้งปุ๋ยมูลช้าง ปุ๋ยไส้เดือน กระถางต้นไม้ที่ผลิตจากมูลช้าง กระดาษมูลช้าง รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นนวัตกรรมจากการนำมูลช้างมาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต จะวางจำหน่ายทั่วประเทศในเร็วๆนี้
ทางด้านนายวีระชัย ไชยมงคล กำนันโหน่ง กำนันตำบลป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้นำคณะเข้ามาศึกษาดูงานพร้อมนำปุ๋ยอินทรีย์มูลช้างของปางช้างแม่สาเพื่อนำไปส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ต.ป่าแดด ไม่ว่าจะเป็น สวนปลไม้ในพื้นที่ ร่วมไปถึงนาข้าว พร้อมนำไปส่งเสริมโรงเรียนในพื้นที่ในการปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อเป็นอาหารกลางวันรวมไปถึงชาวบ้าน ที่ปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อใช้ในการบริโภค พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก มูลช้างเพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป.
นิวัตร -ภัทร์ศิริ ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่ รายงาน